รับประทานอาหารอย่างไร หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง

โดย Boontharika Boonchaisaen
food for gastric cancer

วันก่อนมีคนไข้มะเร็งกระเพาะอาหารรายหนึ่งมาปรึกษาที่คลินิกเคมีบำบัดว่า…

เวลากินนมทุกครั้งจะอาเจียน พะอืดอะอมตลอด และมารับยาเคมีบำบัดครั้งนี้ คนไข้ดูซูบลง ชั่งน้ำหนักพบว่า น้ำหนักลด 3 กิโลกรัม เนื่องจากกินอาหารไม่ค่อยได้ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร และปฏิบัติตัวอย่างไร ให้อาการดังกล่าวดีขึ้นบ้าง

แอดมินได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและอธิบายให้คนไข้ฟังแล้ว จึงอยากนำข้อมูลดังกล่าวมาแบ่งปันให้เพื่อนๆแฟนเพจได้อ่านกันค่ะ

มารู้จักมะเร็งกระเพาะอาหารกันเถอะ?

cancer

มะเร็งกระเพาะอาหาร(Gastric Cancer) คือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างไม่มีการควบคุม และในที่สุดเกิดการลุกลามไปตามอวัยวะข้างเคียง กระทั่งเกิดการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ตับ เป็นต้น สามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในกระเพาะอาหาร แต่ที่พบบ่อยคือส่วนปลายของกระเพาะอาหาร แต่ปัจจุบันตำแหน่งที่พบอยู่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุของโรค คือ ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ส่วนอาการของโรคขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งในกระเพาะอาหาร หากอยู่สูงใกล้กับหลอดอาหาร จะทำให้มีอาการกลืนลำบาก หรือถ้าหากอยู่ส่วนปลายของกระเพาะอาหารที่ต่อกับลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารอุดตัน ทานอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง แม้จะทานเข้าไปในปริมาณไม่มาก ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง บางครั้งส่งผลให้เกิดการอาเจียนได้หลังทานอาหารเข้าไป

การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร ทำอย่างไร?

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก คนไข้จะไม่มีอาการ แต่จะพบแพทย์ด้วยอาการท้องอืด แน่นท้อง ทานอาหารเข้าไปแล้วปวดท้อง คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร ระยะนี้รักษาโดยการผ่าตัด หากมะเร็งยังอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารและคนไข้ไม่มีอาการ ตรวจพบจากการส่องกล้อง จะรักษาโดยการใช้กล้องส่องทางเดินอาหารแล้วเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารออก
  • ระยะสอง มะเร็งเริ่มมีขนาดโตขึ้นแต่ยังไม่ไปติดอวัยวะข้างเคียง รักษาโดยการตัดกระเพาะอาหารออก
  • ระยะที่สาม มะเร็งมีการกระจายไปติดอวัยวะข้างเคียง ทำให้เลาะกระเพาะอาหารออกได้ไม่หมด หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะทำการผ่าตัดออกทั้งหมด รวมถึงเลาะต่อมน้ำเหลืองออกด้วย
  • ระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะไกล ๆ เช่น ปอดหรือตับ นั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะรักษาโดยการให้เคมีบำบัด

หมายเหตุ การพิจารณาเพื่อให้ยาเคมีบำบัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนไข้ที่เป็นไม่มาก (ระยะที่ 1, 2, 3) ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ กลุ่มนี้จะรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่มีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบ หลังผ่าตัดควรได้รับยาเคมีบำบัด และอาจได้รับรังสีรักษาร่วมด้วย เพื่อลดอาการกำเริบ แต่ในกรณีที่คนไข้มีอาการอยู่ในระยะที่ 4 จะไม่สามารถผ่าตัดได้ มีโรคในร่างกายค่อนข้างมาก จึงต้องให้เคมีบำบัดเพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค

ภาวะแทรกซ้อน หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร?

Dumping Syndrome

ขอบคุณภาพจาก http://www.emilysstomach.com/2014/05/dumping-syndrome.html

  1. ภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้( Dumping Syndrome) เนื่องจากกระเพาะส่วนปลาย  (Pylorus) ที่ทำหน้าที่ชะลออาหารไว้ในกระเพาะไม่ให้ไหลผ่านสู่ลำไส้เร็วเกินไป ถูกตัดออกไป
  2. น้ำดีจากลำไส้ไหลย้อนเข้าสู่กระเพาะ ทำให้กระเพาะอักเสบ (Bile Gastritis)
  3. ภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามิน B12  เนื่องจากส่วนของกระเพาะที่ช่วยในการดูดซึม วิตามินถูกตัดออกไป

หลังจากกระเพาะอาหารถูกตัดออกไปจะทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ทำงานไม่ปกติ ทำให้ระบบการย่อยอาหารแปรปรวนและเกิดลข้างเคียงมากมายตั้งแต่ คลื่นไส้, อาเจียน, จุกแน่นหน้าอก, ปวดท้อง, ท้องเสีย, หน้ามืด,เป็นลม, อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงอย่างมาก ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง จนผู้ป่วยไม่อยากมีชีวิตอยู่

แนวทางปฏิบัติพื้นฐานของการกินอาหาร หลังจากผ่าตัดกระเพาะอาหาร

fruits

  • กินน้อยๆแต่บ่อยครั้ง แบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน หยุดทันทีถ้ารู้สึกจุก แน่นท้องหรือรู้สึกผิดปกติ
  • ห้ามดื่มน้ำในขณะกินอาหาร งดน้ำ 30 นาทีก่อนและหลังอาหาร เพราะน้ำจะทำให้อาหารผ่านลงสู่ลำไส้เร็วขึ้น
  • ไม่กินอาหารเหลว เลือกเป็นอาหารค่อนข้างแข็งเล็กน้อย นำไปต้มหรือนึ่งแล้วนำมารับประทาน ประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไก่ ลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ แต่ให้หลีกเลี่ยงพวกคาร์โบไฮเดรต พวกน้ำตาลแป้ง ถ้าอาการดีขึ้นจะลองกินพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนดูก็ได้ เช่น ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย ถั่วต่างๆ ค่อยๆเพิ่มปริมาณทีละน้อยๆ
  • กินผัก ผลไม้ ที่มีใยอาหารมากๆ เช่นฝรั่ง, ชมพู่, แอปเปิ้ลหรือพวกเส้นที่ทำจากบุก
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ ครั้งละน้อย อย่าให้จุกแน่นท้อง ควรได้ประมาณ 2 ลิตร/วัน หลังจากมื้ออาหาร 30 นาทีและก่อนกินข้าว 30นาที
  • อาจเสริมพวกไขมันได้ถ้าอาการคลื่นไส้อาเจียนดีขึ้น เพราะไขมันย่อยยาก จึงอาจมีปัญหาได้ในตอนแรกๆ

ถ้าใครมีญาติหรือคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แล้วถูกตัดกระเพาะอาหารออกไป แนะนำให้ลองรับประทานอาหารตามวิธีข้างต้นนี้ดูค่ะ อาจช่วยทำให้ผู้ป่วยกินอาหารได้ดีขึ้น และยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ด้วย เพราะหากแนะนำผิดวิธี อาจทำให้อาการแย่ลงทั้งจากตัวโรคและรับประทานอาหารไม่ได้ จนน้ำหนักลดถึงขั้นผอมหนังหุ้มกระดูกได้นะคะ

เรียบเรียงข้อมูลโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : บทความ Dumping Syndrome ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารที่น่ากลัวคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Facebook Comments

You may also like