ทุเรียน ราชาผลไม้(King of fruits)ที่อันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวาน

โดย Boontharika Boonchaisaen
durian_diabetes

เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ทุเรียน ที่เขาว่ากันว่าเป็น “King of fruits”หรือ“ราชาแห่งผลไม้” วางขายเรียงรายเต็มไปหมด สำหรับคนที่โปรดปรานรสชาติและกลิ่นของทุเรียนคงจะรู้สึกฟินและมีความสุขมาก แต่หารู้ไม่ว่า..

หากคุณผู้บริโภคทั้งหลายรับประทานทุเรียนมากเกินไป อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

durian_1

และถ้ามีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน, ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นได้ วันนี้ทีมงานจึงอยากนำความรู้ดีๆ สำหรับใครที่ชื่นชอบการรับประทานทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจมาแบ่งปันให้ได้อ่านกันค่ะ

ทุเรียน.. ราชาผลไม้

durian fruit

ทุเรียน(Durio zibethinus Murray) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า durian เป็นพืชในวงศ์ BOMBACACEAE เป็นไม้พื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนมากที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

เนื้อและเมล็ดของทุเรียนมีคุณค่าทางอาหารสูง และให้พลังงานสูงประมาณ 124 กิโลแคลอรี/100 ก. เพราะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และมีแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม นอกจากนี้ในเนื้อของทุเรียนยังมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน ซึ่งทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัวที่รุนแรง และสารสำคัญที่พบในทุเรียนคือสารในกลุ่ม คาโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และโพลีฟีนอล

ทางกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า..

ถ้าใครเผลอรับประทานประมาณครั้งละ 2-3 พู หรือประมาณ 4-6 เม็ด ก็เท่ากับว่าร่างกายจะรับพลังงานถึง 400 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบแล้วพอๆ กับการกินข้าว 5 ทัพพี หรือเทียบเป็นน้ำอัดลม 2 กระป๋อง

มาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกันก่อนดีกว่า

diabetes

โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป โดยมีอาการเกิดขึ้นมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง ซึ่งปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจึงอาจมีผลในการทำลายหลอดเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

และนอกจากการรับประทานน้ำตาลและไขมันในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้อินซูลินเกิดความผิดปกติแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้อีก อาทิเช่น กรรมพันธุ์, ความอ้วน, ความผิดปกติของตับอ่อน, การออกกำลังกายน้อย เป็นต้น

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน

sugar

  1. ชอบกินอาหารรสจัด การที่กินอาหารรสจัด ไม่ว่าจะหวานจัด มันจัด หรือเค็มจัด ต่างก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ชอบกินหวานจัด หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างแป้งและน้ำตาลอาจทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารอาหารที่ไม่จำเป็นไว้ จนกลายเป็นการสะสมของระดับน้ำตาลในเลือดตามมาได้
  2. อ้วน น้ำหนักเกิน ไขมันสูง คนที่ชอบกินของทอด ของมัน ครีม เนย ชีส หรือของที่มีรสหวาน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานทั้งนั้น เพราะเมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้น มีไขมันสะสมเยอะ ก็จะทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนัก และยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น ส่งผลให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดก็สูงขึ้น และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
  3. ความเครียด เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของหลากหลายโรค และหนึ่งในนั้นก็คือเบาหวาน เพราะเวลาที่เราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา และฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของน้ำตาลได้
  4. ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่จัด พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 ดริ๊งค์ (แอลกอฮอล์ 48 กรัม) ในคนที่น้ำหนักตัวประมาณ 70 กก. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน เพราะตับที่เป็นอวัยวะหลักในการทำลายแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด จะต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงในการทำลายแอลกอฮอล์ 1 ดริ๊ง ซึ่งแปลว่า ถ้ากินเกิน 2 ดริ๊งค์ ตับจะเริ่มทำงานหนักเกินกำลัง จนเกิดการสะสมไขมันไตรกลีเซอไรด์ในตับ และกลายเป็นภาวะไขมันเกาะตับ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน และการสูบบุหรี่ก็จะยิ่งทำให้การทำงานของอินซูลินแย่ลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นนั่นเอง
  5. ไม่ชอบออกกำลังกาย เพราะโรคเบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ การออกกำลังกายที่พอเหมาะจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองกับอินซูลิน ซึ่งเป็นตัวควบคุมน้ำตาลไม่ให้สูงเกินปกติได้ดีขึ้น

ทุเรียนอันตรายอย่างไร ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

หากอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะพอเข้าใจกันบ้างแล้วว่า ทำไมทุเรียนถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายในผู้ป่วยเบาหวาน ก็เพราะทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีรสหวานจัดและไขมันสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นตามมาได้ ดังนั้น จึงควรเลือกรับประทานทุเรียนอย่างเหมาะสมเช่น ไม่ควรรับประทานเกิน 2 เม็ดกลาง หรือ 100 ก. ซึ่งจะให้พลังงานประมาณ 124 กิโลแคลอรี หรือเทียบง่ายๆคือ 1 เม็ด เท่ากับข้าว 1 ทัพพี และควรเลือกผลที่ห่ามไม่สุกจนเกินไป เพราะน้ำตาลน้อยกว่า และควรลดแป้งหรือน้ำตาลในวันที่รับประทานทุเรียน และที่สำคัญถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานทุเรียนในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดีกว่าค่ะ

การรับประทานทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์

alcohol

การรับประทานของทั้งสองอย่างพร้อมกัน จะมีผลทำให้เอนไซม์ aldehyde dehydrogenase ลดลง ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่เปลี่ยนสาร aldehyde ให้กลายเป็นสารอื่นแล้วถูกกำจัดออกจากร่างกายต่อไป (aldehyde เป็นสารพิษที่ได้จากกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์เป็นพลังงาน) ส่งผลให้สาร aldehyde เกิดการสะสมในร่างกาย และทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียน และอาเจียนได้

และจากที่กล่าวมาข้างต้นว่าทุเรียนมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน ซึ่งสารนี้ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ จึงทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดน้ำได้อีกด้วยค่ะ

ดังนั้น อากาศร้อนๆแบบนี้ อย่าเผลอดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือน้ำอัดลม ร่วมกับทุเรียนกันนะคะ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้เลย ยิ่งผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ยิ่งต้องระวังและหลีกเลี่ยงการรับประทานทุเรียนจะดีที่สุด

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลสำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ, http://thaidiabetes.com/

Facebook Comments

You may also like