เคยสงสัยมั้ยคะว่า ทำไมตอนจ่ายยาเภสัชกรต้องถามว่า กำลังให้นมบุตร อยู่หรือเปล่า? การให้นมบุตร สัมพันธ์กับการกินยาอย่างไร ทำไมคนไข้ที่ให้นมบุตรต้องแจ้งแพทย์ด้วยทุกครั้งเวลาไปโรงพยาบาล วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จะมาช่วยไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกันค่ะ
การใช้ยา VS นมแม่
หลายๆคนน่าจะพอทราบกันดีว่า นมแม่เป็นสุดยอดอาหารของทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรก ทารกควรได้รับนมแม่ล้วนๆ แต่ก็อาจจะยังไม่ทราบว่า “ยา” ที่เรากินเข้าไปนั้น นอกจากจะผ่านทางรกไปสู่ทารกในขณะตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังสามารถผ่านทางน้ำนมได้อีกด้วย ดังนั้น คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรอยู่จึงควรมีความรู้และระวังเรื่องนี้ด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ
หลักการทั่วไป สำหรับการเลือกใช้ยาของคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา หากไม่จำเป็น หรือถ้าเป็นไปได้ให้เลื่อนการใช้ยาไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ทารกหย่านม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาสูตรผสม ควรเลือกยาที่ประกอบด้วยตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียว
- ควรเลือกใช้ยาที่มีขนาดต่ำที่สุดหรือใช้ยาในช่วงระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ควรเลือกใช้ยาที่มีรูปแบบสูดพ่นหรือใช้ภายนอก แทนการใช้ยาแบบรับประทานหรือฉีด เช่น ยาบรรเทาอาการคัดจมูก, แบบสูตรพ่นแทนยาบรรเทาอาการคัดจมูกแบบรับประทาน
- ให้ทารกดูดนมก่อนให้ยามื้อถัดไป หรือรอมากกว่า 2-3 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยาจึงให้นมบุตร
- ในกรณีที่ต้องรับประทานยาวันละหลายครั้ง คุณแม่สามารถบีบน้ำนมเก็บไว้ก่อนที่คุณแม่จะรับประทานยา
- หยุดให้นมลูกในกรณีที่เป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
ยาที่ห้ามใช้ ในขณะให้นมบุตร
- Amiodarone (อะมิโอดาโรน) เป็นยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดในทารก ยาถูกขับออกทางน้ำนมในปริมาณมาก อาจทำให้ทารกได้รับยาผ่านทางน้ำนมซึ่งยานี้มีไอโอดีน(iodine)เป็นส่วนประกอบทำให้ทารกเกิดภาวะไฮโปไทรอยด์( Hypothyroidism) มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ยาเคมีบำบัด(Antineoplastics) ยกตัวอย่างเช่น Cyclophosphamide(ซัยโคลฟอสฟาไมด์), Doxorubicin(ด็อกโซรูบิซิน), Methotrexate(ยาเมโธเทรกเซท) เป็นยารักษาโรคมะเร็ง อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดในทารก ยาอาจกดระบบภูมิคุ้มกัน กดไขกระดูกในทารก
- Ergotamine + Caffeine ยกตัวอย่างเช่น Cafergot(คาเฟอร์กอท) เป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดในทารก ยาขับออกทางน้ำนมได้ ผลของ Ergotamine ทำให้ทารกเกิด Ergotism (อาเจียน ท้องเสีย และชัก) รวมทั้งกดการหลั่งของน้ำนม ในขณะที่ Caffeine ในขนาดที่ใช้ ไม่พบว่าทำให้เกิดอันตรายต่อทารก แต่หากใช้ติดต่อกันจนเกิดการสะสม จะมีผลกระทบต่อการนอนของทารก จึงห้ามให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยาดังกล่าว
- Ethosuximide (เอทโธซักซิไมด์) เป็นยารักษาโรคลมชัก อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดในทารก ยาอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม, ตกใจง่าย หรือแรงดูดนมลดลง
- ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ ชนิดรับประทาน ยกตัวอย่างเช่น Isotretinoin(ไอโซเตรทติโนอิน) เป็นยารักษาสิวที่มีอาการรุนแรง ซึ่งไม่สามารถควบคุมอาการจากการรักษาอื่นๆ อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดในทารก ยาถูกขับออกทางน้ำนม อาจทำให้ทารกที่ได้รับนมจากคุณแม่ที่ได้รับยานี้แล้วเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น ปวดหลัง หรือเป็นพิษต่อตับ เป็นต้น
หากคุณแม่ท่านใดอยากทราบข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเองก่อนไปพบแพทย์หรือเภสัชกร สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ที่ www.e-lactancia.org/ เพียงแค่คุณกรอกชื่อยาที่ต้องการทราบลงในช่องว่าง ดังภาพด้านล่างนี้
หากปรากฏเป็นแถบสีเขียวที่ระบุว่า “Very Low Risk” หรือไม่พบความเสี่ยงต่อทารกในขณะให้นมก็แสดงว่า“ปลอดภัย”ค่ะ
แต่ถ้าปรากฏเป็นแถบสีแดงที่ระบุว่า “Very High Risk” หรือมีความเสี่ยงสูงมากต่อทารกในขณะให้นมซึ่งก็คือ“ไม่แนะนำให้ใช้เพราะไม่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงใช้ยาตัวอื่น”นั่นเองค่ะ
ที่สำคัญคุณแม่ทั้งมือเก่าและมือใหม่ ถ้าไม่สบาย แนะนำว่าไม่ควรซื้อยากินเอง และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนตัดสินใจใช้ยานะคะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, e-lactancia.org, National Center for Biotechnology Information