เวลาไปโรงพยาบาลหรือร้านยา เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า ทำไมเวลาจ่ายยาเมโทรนิดาโซล เภสัชกรถึงต้องห้ามไม่ให้กินยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ บางคนอาจจะไม่ได้ตั้งใจฟังหรือไม่ใส่ใจกับคำแนะนำดังกล่าว แต่ที่เภสัชกรต้องแนะนำแบบนั้น เพราะมันอาจทำให้เกิดพิษ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้นะคะ
ยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล) คืออะไร
ยาเมโทรนิดาโซล (Methonidazole) เป็นยาที่ถือกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) และมีการใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลายมามากกว่า 50 ปี ซึ่งยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล)จะไปออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะกับชนิดที่การเจริญเติบโตไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และเชื้อพวกสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa)
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Metronidazole (เมโทรนิดาโซล)
Metronidazole(เมโทรนิดาโซล)จะออกฤทธิ์โดยการซึมเข้าผนังเซลล์ของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และผนังเซลล์ของเชื้อจำพวกสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) จากนั้นตัวยาจะเข้าไปรบกวนการสร้างและการสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อดังกล่าว ทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
ข้อบ่งใช้ของยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล)
โดยส่วนใหญ่ยาMetronidazole(เมโทรนิดาโซล)จะใช้รักษาการติดเชื้อในช่องคลอด ท้อง ผิวหนัง ข้อต่อ และระบบทางเดินหายใจ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ทำไมยา Metronidazole(เมโทรนิดาโซล)จึงไม่แนะนำรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่
คำตอบ คือ หากรับประทานยาMetronidazole(เมโทรนิดาโซล)ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการหน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หากมีอาการหนัก อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวกหายใจลำบาก หรือหมดสติได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “Disulfiram-like reactionหรือกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม” นั่นเองค่ะ
Disulfiram-like reaction(กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม)คืออะไร
ร่างกายมีกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายภายในตับ ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนรูปเป็นสารอะเซทาดีไฮด์ (Acetadehyde)ด้วยเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol dehydrogenase) และสารอะเซทาดีไฮด์นี่เอง ที่เป็นสาเหตุของอาการมึนเมา หลังจากนั้นเอนไซม์อีกชนิดที่ชื่อว่าอะเซตาดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (Acetadehyde Dehydrogenase)จะเข้ามากำจัดโดยเปลี่ยนรูปสารอะเซทาดีไฮด์ให้เป็นกรดอะซิทิก(Acetic Acid) ซึ่งเป็นกรดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย แล้วถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
ยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล)หรือยาบางชนิดมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานเอนไซม์อะเซตาดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (Acetadehyde Dehydrogenase) จะทำให้เกิดการสะสมของสารอะเซทาดีไฮด์ในร่างกาย ทำให้ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นกรดอะซิทิก(Acetic Acid) ทำให้ผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มเหล่านี้ เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แล้วนั้น จะเกิดปฏิกิริยาคล้ายคนเมาสุราได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายหรือเกิดพิษแก่ผู้ป่วยได้ หากได้รับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ที่เรียกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนี้ว่า “กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม(Disulfiram-like Reaction)”
ยาอื่นที่ทำให้เกิดอาการDisulfiram-like reaction(กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม)
ยาอื่นที่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่นอกจากยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล) เช่น
- ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เช่น ยาในกลุ่มยา Cephalosporin เช่น ยาCefoperazone(เซโฟพีราโซน), ยาCefamandole(เซฟาแมน) และยาCefotetan(เซโฟทีทัน)
- ยาฆ่าเชื้อราหรือยาต้านเชื้อรา เช่น ยาGriseofulvin(กรีซีโอฟูลวิน)
- ยาในกลุ่ม Sulfonylureas(ซัลโฟนิลยูเรีย) ที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน เช่น ยาChlorpropamide(คลอโพรพาไมด์), ยาGlyburide(ไกลบูไรด์)
- ยาในกลุ่ม Nitrates(ไนเตรท) เช่น Isosorbide dinitrate(ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท) และ Nitroglycerin(ไนโตรกลีเซอรีน) เป็นต้น
ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งในกรณีที่ต้องรับประทานยากลุ่มดังกล่าว ว่าควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เป็นระยะเวลานานเท่าใด เนื่องจากยาแต่ละตัวมีระยะเวลาการขับออกจากร่างกายแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
ยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล) มีระยะเวลาการขับออกจากร่างกายประมาณ 40 ชั่วโมง ดังนั้นเภสัชกรจึงมักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในขณะที่กินยาMetronidazole (เมโทรนิดาโซล) หรืออย่างน้อย 3 วันหลังจากกินยาจนหมด
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : medscape, wikipedia, The National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism