ก่อนหน้านี้มีข่าวการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ประเทศฮ่องกง และเชื้อเริ่มแพร่มาใกล้ไทยเข้าไปอีก เมื่อมีข่าวศิลปินดาราคนดังชาวเมียนมาติดเชื้อชนิดนี้ด้วย และเมื่อวานนี้เอง มีข่าวรายงานว่า นักศึกษากว่า 50 รายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ถูกหามส่งโรงพยาบาล
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 43,082 ราย เสียชีวิต 5 ราย
บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมแค่โรคไข้หวัด จึงทำให้คนเสียชีวิตได้ ก็เพราะว่า มันไม่ใช่แค่ไข้หวัดทั่วไปน่ะสิคะ แต่มันคือ “ไข้หวัดใหญ่” นั่นเอง ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่ ให้ดีกว่านี้กันดีกว่าค่ะ
ไข้หวัดทั่วไปต่างจากไข้หวัดใหญ่อย่างไร?
ไข้หวัดทั่วไป
- สาเหตุ เกิดจาการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
- อาการ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ไม่สูงมาก มีน้ำมูก หรืออาการไอร่วมด้วย
ไข้หวัดใหญ่
- สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อ Influenza Virus
- อาการ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย
มาทำความรู้จักไข้หวัดใหญ่กันเถอะ
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซ่า (influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ influenza A และ B ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ ดังนี้
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1)
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2)
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata
ดังนั้น การใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ไวรัสครบทั้ง 4 สายพันธุ์จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่ครอบคลุมเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่อาจระบาดในฤดูกาลนั้นๆ ได้มากกว่า ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ลดน้อยลง
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อแพร่ระบาดได้อย่างไร?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ติดต่อกันได้จากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และนำเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจอาการจะปรากฎขึ้นหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 1-3 วัน ดังนั้น ในบางครั้งที่อาการของโรคยังไม่ปรากฏ ผู้ป่วยสามารถที่จะแพร่เชื้อให้คนที่อยู่ใกล้ชิดได้โดยไม่รู้ตัว
มาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
กรมควบคุมโรค ได้แนะนำมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไว้ 4 อย่างด้วยกัน คือ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่
- ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย
- ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร เป็นต้น
- เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ประชาชนกลุ่มใดบ้างที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และควรไปฉีดวัคซีนป้องกัน
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย และเบาหวาน
- ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก.
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
กลุ่มเสี่ยงสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรีที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ตั้งแต่บัดนี้–31 สิงหาคม 2560
ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอยู่เสมอ ทำให้เกิดเชื้อใหม่ในสัตว์และในคนอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์และในคนที่มีอยู่เดิมอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นคงอยู่ไม่นาน และมักจะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนหรือปี ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีจึงเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันให้เหมาะสมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มาใหม่แต่ละปี และมีระดับที่สูงอยู่ตลอดเวลาสำหรับรับมือกับเชื้อที่จะเข้ามาสู่ร่างกายของเรา
ในคนที่ไม่ใช่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง แต่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อสอบถามที่รพ.ใกล้บ้านได้นะคะ
ถ้าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว รักษาได้ไหม?
ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่มีอยู่ไม่กี่ชนิด ปัจจุบันมียาชื่อ “โอเซลตามิเวียร์” สามารถรักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ควรใช้เท่าที่จำเป็นและภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะหากใช้พร่ำเพรื่อเชื้ออาจดื้อยาได้ค่ะ
หากมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
สิ่งที่น่ากลัว และคร่าชีวิตคนได้มากพอๆกับอาวุธสงคราม นั่นคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโรค
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : กรมควบคุมโรค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักข่าวผู้จัดการ