ใครบอกว่าอาชีพ “หมอยา” เป็นอาชีพที่สบาย นั่งหน้าสวย ในห้องแอร์ ยื่นยาให้คนไข้ แล้วก็ได้เงินเดือนมาใช้ไม่เห็นจะเหนื่อยตรงไหน นั่นแปลว่า คุณไม่รู้จักอาชีพของเราดีพอ
หน้าสวย..
นี่ไม่เถียง ฮ่าๆ แต่ไม่ได้นั่งยื่นยาให้คนไข้อย่างเดียวนะคะ
บางคนหาว่าเราเป็น “อุปสรรคของการรับยา” เพราะกว่าจะได้ นานแสนนาน
ไม่รู้จะซักประวัติอะไรกันมากมาย แต่เดี๋ยวก่อน โปรดหยุดคิดซักนิด! ว่าที่เราต้องซักประวัติกันละเอียดขนาดนั้นเพื่อใคร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้คนไข้ทุกคน.. ปลอดภัยจากการใช้ยา
เราไม่ได้แค่นั่งอย่างเดียว..
บางวันเราต้องเดินไปหาคนไข้ถึงเตียงเพื่อซักประวัติแพ้ยา ประเมินการใช้ยาของคนไข้ว่ากินถูกต้องมั้ย มียาอื่นตัวไหนกินร่วมหรือเปล่า กินยาต้ม ยาชุด ยาสมุนไพร ที่กินแล้วอาจเกิดอันตรายหรืออาการข้างเคียงอะไรบ้าง รวมถึงประเมินขนาดการใช้ยาว่าเหมาะสมหรือไม่กับโรคกับค่าตับ ไตของคนไข้ ดูๆไปอาชีพนี้ก็ คล้ายๆ โคนันอยู่เหมือนกัน –”
หรือแม้กระทั่ง บางครั้งเราต้องเป็นทูตสัมพันธไมตรี แก้ปัญหาให้คนในครอบครัวของคนไข้
ให้เข้าใจกันด้วย.. หนักสุดๆ คือทำหน้าที่เป็นที่ระบายอารมณ์ คนไข้ก็จะชอบมาพ่นๆ คำด่า ตำหนิระบบการทำงานของรพ. ต่อหน้าเราเพราะเราคือด่านสุดท้ายก่อนออกไปจากรพ. ประมาณว่า
“ขอด่าหน่อยเถอะ ก่อนกลับบ้าน!” แล้วทำไมเราต้องมารับคำด่าเหล่านั้นด้วย –?
แต่ก็อดทนก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป..
บางกรณี.. ที่ยากที่สุดเวลาจ่ายยา คือ คนไข้หูหนวก เราต้องหาวิธีอะไรก็ได้ ที่ทำให้คนไข้เข้าใจ และกินยาให้ถูกต้อง ทั้งพยายามตะโกนพูดให้คนไข้ได้ยิน แต่คนไข้ที่นั่งรอบางคนอาจไม่เข้าใจ คิดว่าเราด่าคนไข้ก็มี (นี่ก็โดนร้องเรียนไปตามระเบียบ) ..
การคุยกับคนไข้.. จริงๆต้องเรียนรู้ว่าแต่ละคนเป็นคนไข้ประเภทไหนด้วย ถึงจะคุยกันเข้าใจและรู้เรื่อง เพราะคนไข้ก็มีหลายประเภท
บางคนชอบดุ ชอบให้ขู่ถึงจะยอมเชื่อ.. ถ้าคนอื่นมอง อาจจะบอกว่า ทำไมเราโหดจัง แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ คนไข้ประเภทนี้ก็จะไม่กลัว และไม่ยอมกินยาตามแพทย์สั่ง
บางคนต้องพูดจาดี เพราะมีการศึกษาสูง.. ต้องอธิบายกลไกของยาให้เข้าใจ นั่นก็ต้องใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานิดนึง
บางคนต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงพื้นฐานครอบครัว.. ต้องคุยจนกระทั่งหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมคนไข้ถึงเบาหวานขึ้น ความดันสูงขึ้น .. ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่มาด้วยอาการน้ำตาลต่ำ แพทย์สั่งหยุดยาเบาหวานทุกตัว แต่หลังจากที่เภสัชกรซักประวัติคนไข้อย่างละเอียดแล้ว พบว่า
“ปัญหาสำคัญของคนไข้รายนี้ แท้จริงสาเหตุก็คือ คนไข้อ่านหนังสือไม่ได้เลย เวลากินยาก็จะอาศัยจำเอา แล้วยาที่ได้ก็ไม่ใช่น้อยๆ อย่าว่าแต่ตัวคนไข้เองจะจำไม่ได้เลย คนการศึกษาสูงๆเองก็อาจจะจำไม่ได้เหมือนกัน เภสัชกรเลยต้องจัดการอธิบายเหตุผลของอาการป่วยครั้งนี้ให้คนไข้เข้าใจ และต้องหาทางช่วยแก้ไขให้คนไข้กินยาอย่างไร ถึงจะถูกต้อง ให้ได้ตามจรรยาบรรณ”
วันนั้น.. จึงถามคนไข้ว่า “คุณยาย อยู่บ้านกับใคร?”
ยายตอบว่า “สามีจ้า”
“แล้วสามียาย อ่านหนังสือได้มั้ย?”
“ก็ได้นะจ๊ะคุณหมอ”
“งั้นยายก็ต้องให้สามีช่วยอ่านฉลากหน้าซองยาให้ฟังก่อนกินยาทุกครั้ง
ไม่งั้นยายก็จะกินยาผิดอีก แล้วก็ต้องมานานรพ.แบบเดิมอีกนะคะ”
ยาย ไปเรียกสามียายมาค่ะ ขอคุยด้วยหน่อย.. (ถึงเวลาจัดการปัญหาครอบครัว เห่อๆ)
“คุณตา คุณตารู้มั้ย ว่ายายกินยาผิด”
ตาตอบว่า “ไม่รู้นะ นึกว่ายายจำได้อยู่”
“ยายจำไม่ได้หรอกค่ะ ยาเยอะขนาดนี้ แล้วที่มานอนรพ.ก็เพราะกินยาผิด ยายอ่านหนังสือไม่ได้ด้วย ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้อีก ยายอาจจะไม่รอดแล้วนะคะ” (แอบขู่เพราะดูตาจะไม่ค่อยสนใจภรรยาตัวเอง)
“คุณตา ถ้ายายเป็นอะไรไป คุณตาอยู่คนเดียวได้มั้ย?” (เริ่มดราม่า ให้คุณตาแอบสะเทือนใจเล็กๆ)
“ตาก็ไม่อยากอยู่คนเดียวหรอก” (ตาเริ่มดูคิดตามแล้ว)
“งั้นตาก็ต้องช่วยดูแลยาย ทำยังไงก็ได้ให้ยายกินยาให้ถูกต้อง มีกันอยู่สองคนแค่นี้ ถ้าไม่ดูแลกันและกัน แล้วจะให้ใครมาดูแลล่ะคะ”
“ได้ครับ เดี๋ยวตาจะอ่านให้ยายฟังทุกครั้งก่อนกินยา”
(ยายแอบยิ้ม) .. แล้วสองตายาย ก็รับยาและเดินจากไป.. อย่างมีความสุขมั้ย?
(อันนี้ก็ไม่รู้สินะ ฮ่าๆ)
นี่ก็คือการทำงานของเราค่ะ.. ไม่ใช่แค่จ่ายยาสวยๆแล้วได้เงินเดือน
คนไข้ทุกคนมีความ sensitive ของตัวเองเราต้องรู้ว่า คนไข้คนไหนอ่อนไหวในจุดไหนบ้าง
คุยกับเขาให้ตรงจุด ถ้ารู้ว่าเราเข้าไปแตะจุดที่เขา sensitive มากเกินไปแล้วก็อาจจะถอยออกมาบ้าง คนไข้บางคนแตะไม่ได้เลยก็มี .. ดังนั้น จึงต้องหาวิธีสื่อสารกันให้เข้าใจและได้ประสิทธิภาพที่สุด
เพื่อให้เหมือนเนื้อเพลงซึ่งรุ่นพี่คนหนึ่งในคณะของฉันแต่งไว้ว่า..
“อยากรู้เรื่องยา ถามหาเภสัชกร จะบอกกับคุณทุกขั้นตอน
ขอเพียงแค่คุณถามมา ให้รู้เราอยู่ตรงนั้น โรงพยาบาลและร้านยา
ปรึกษาเราได้อยู่ทุกเวลา เราหมอยาจะอยู่ในหัวใจ ให้เราเป็นส่วนหนึ่งของคุณ..”
เห็นมั้ยล่ะคะว่า“เภสัชกร” ไม่ได้เรียนจบมาเพื่อนั่งจ่ายยาสวยๆในห้องแอร์.. เพียงอย่างเดียว
เพลงอยากรู้เรื่องยาถามหาเภสัชกร ฉบับเต็ม