The mask patients หน้ากากคนไข้ ตัวช่วยในการตรวจมะเร็งปากมดลูก

โดย Boontharika Boonchaisaen
Mask For Pap Smear

เมื่อพูดถึงมะเร็งที่มาคู่กับผู้หญิง หลายคนมักจะนึกถึงมะเร็งเต้านม แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีมะเร็งอีกหนึ่งชนิด ที่ควรให้ความสำคัญและเฝ้าระวัง นั่นก็คือ มะเร็งปากมดลูกค่ะ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสองของมะเร็งในสตรีไทย รองจากมะเร็งเต้านม โดยมีอุบัติการณ์(age-standardized incidence rate; ASR) ประมาณ 18.1 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คนต่อปีโดยพบในอัตราแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค

สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

Cervical Cancer

ขอบคุณภาพจาก https://familydoctor.org

คือ เชื้อไวรัส ชื่อ ฮิวแมน แปปิลโลมา ไวรัส(Human Papilloma Virus) เรียกสั้นๆว่า เอชพีวี(HPV) หรือ ไวรัสหูดนั่นเอง ไวรัส เอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยงต่ำจะทำให้เกิดการเป็นหูดหงอนไก่ และกลุ่มเสี่ยงสูงจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

lover

ปัจจัยเสี่ยงของฝ่ายหญิง ที่สำคัญ คือ

  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย(ต่ำกว่า 18 ปี)
  • มีคู่นอนหลายคน
  • คลอดบุตรจำนวนหลายคน(มากกว่า 3 คนขึ้นไป)
  • เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โดยเฉพาะติดเชื้อไวรัส เอชไอวี/โรคเอดส์(HIV/AIDs)
  • มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่น เริมหรือหนองใน
  • เคยมีความผิดปกติ(การอักเสบเรื้อรัง)ของปากมดลูก โดยตรวจพบจากการตรวจภายใน และจากตรวจเซลล์ปากมดลูก
  • สูบบุหรี่
  • มีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพศ ชนิดไดอีธีลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol เรียกย่อว่า DES/ดีอีเอส) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
  • อาจจากขาดสารอาหารบางชนิด เพราะพบว่าผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อย มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดพบบ่อย รวมทั้งมะเร็งปากมดลูก สูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มาก
  • อาจจากมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขไม่ทั่วถึงหรือเพราะมีลูกมาก
  • อาจจากพันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย ที่เป็นคู่นอน

  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริมและ/หรือหนองใน
  • มีประวัติเป็นมะเร็งสืบพันธุ์อวัยวะเพศชาย
  • เคยมีคู่นอนที่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรอง pap smear คืออะไร

Pap Smear

ขอบคุณภาพจาก http://www.womenfitness.net

การตรวจ Pap smear เป็นวิธีตรวจปากมดลูกแบบง่ายๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าปากมดลูกของคุณอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี โดยแพทย์จะใช้เครื่องถ่างสำหรับตรวจภายใน (Vaginal Speculum) เพื่อเปิดช่องคลอดให้เห็นปากมดลูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เซลล์บางตัวจะถูกปาดเบาๆ ออกมาจากปากมดลูกของคุณด้วยแปรงเล็กๆ หรือช้อนไม้พาย (แท่งพลาสติกหรือไม้เล็กๆ) เซลล์จะถูกนำไปป้ายบนแผ่นกระจกใส และส่งไปที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะได้รับการตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ต่อไป

ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเสมอ (Pap smear) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุประมาณ 21-25 ปีขึ้นไป

หน้ากากคนไข้ ช่วยในการตรวจ Pap smear ได้อย่างไร

Screen Shot 2560 08 27 At 17.27.17เนื่องจากประชาชนมักจะรู้สึกเขินอายเวลาตรวจช่องคลอดด้วยวิธี Pap smear จึงไม่ค่อยกล้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกรด ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพิ่มมากยิ่งขึ้น

Screen Shot 2560 08 27 At 17.28.11ด้วยการหาหน้ากากมาให้ประชาชน แพทย์และพยาบาลใส่ ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่เห็นหน้าของกันและกัน ผลปรากฏว่า ประชาชนมีความกล้ามากยิ่งขึ้น และเดินทางเข้ามาตรวจมะเร็งปากมดลูกมากถึงวันละ 40-50 ราย และจากการเผยแพร่ของสำนักข่าว BBC News ทำให้นวัตกรรมของไทย โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ

สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร

Hpv Vaccine Collage

ขอบคุณภาพจาก https://woman2womenblog.com

นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap smear แล้ว ยังมีวิธีป้องกันอย่างอื่นอีกเช่น การมีคู่นอนเพียงคนเดียว และถ้าคู่นอนก็มีคู่นอนคนเดียวด้วยก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ช่วยลดความเสี่ยงนี้ด้วยเช่นกัน และการฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine) ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังรณรงค์ให้ฉีดฟรีในเด็กอายุ 11 ปี ซึ่งเป็นวัยเหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีน

แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : BBC News, workpointtv

Facebook Comments

You may also like