เคยสงสัยกันมั้ยคะว่า โรคแบบไหน? ถึงจะเรียกว่าโรคประจำตัว เวลาถามคนไข้ว่ามีโรคประจำตัวหรือเปล่า โรคยอดฮิตที่คนไข้ตอบ หนึ่งในหลายโรคคือ “โรคกระเพาะอาหาร”
“คุณแม่มีโรคประจำตัวมั้ยคะ”... เภสัชถาม
“อ่อ ๆ มีจ้า แม่เป็นโรคกระเพาะ กินยามาตั้งนานแล้ว ไม่หายซักที”… คนไข้ตอบ
“แต่โรคกระเพาะไม่ใช่โรคประจำตัวนะคะคุณแม่”… เภสัชบอก
แล้วทำไม เภสัชกรถึงบอกเช่นนั้น ว่าโรคกระเพาะอาหาร ไม่ใช่โรคประจำตัว คุณคิดว่าจริงมั้ย มาหาคำตอบไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
โรคประจำตัว (Underlying disease) คืออะไร
โรคประจำตัว ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง
- โรคที่ติดตัวอยู่เป็นประจำ
- โรคที่รักษาไม่หายขาด
ซึ่งคำในภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนแปลเองว่า น่าจะตรงกับ คำว่า Underlying disease เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
แล้วโรคกระเพาะอาหารล่ะ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดตามคำจำกัดความของโรคประจำตัวหรือเปล่า?
โรคกระเพาะอาหาร(Gastritis) คืออะไร
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือเรามักเรียกกันสั้นๆว่า โรคกระเพาะ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบหรือเกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันในระยะเวลารวดเร็ว เป็นในระยะสั้น ๆ และหายภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดแผล และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้
อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ขอบคุณภาพจาก timedotcom
ส่วนใหญ่ปวดท้องเป็นๆ หายๆ หรือบางรายอาจเป็นเรื้อรัง และมีอาการปวดจุกเสียด แสบบริเวณลื้นปี่ ท้องอืด ลมดัน เรอเปรี้ยว บางรายเป็นมากจะมีคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดทะลุไปถึงหลังร่วมด้วย หรืออาจถึงขั้นหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจขัด เป็นต้น
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่พบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียกสั้นๆว่า เอชไพโลไร (Helicobacter pylorior หรือ H. pylori) เป็นเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม
- การรับประทานในกลุ่มยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
อย่างไรก็ตามยังพบโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้จากสาเหตุอื่นอีก เช่น การติดเชื้อราบางประเภท การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือระบบภูมิคุ้มกันตนเองบกพร่องจากโรคบางชนิด เช่นโรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคซาคอยโดซิส (Sarcoidosis) หรือภาวะการอักเสบเรื้อรังทางกระเพาะอาหารอื่น ๆ เป็นต้น
การรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบจะรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก เช่น
- จากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร(H.pylori) แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยในการการฆ่าเชื้อ
- จากสาเหตุอื่นๆ แพทย์จะรักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองอาการและช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือ เอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อลดการหลั่งกรด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มบรรเทาอาการปวด แพทย์จะแนะนำให้หยุดการรับประทานยาในเบื้องต้น และปรับเปลี่ยนตัวยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันแทน รวมไปถึงการหยุดพฤติกรรมที่ส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
คนส่วนใหญ่คิดว่าโรคกระเพาะเป็นโรคประจำตัว รักษาไม่หาย ต้องเป็นไปตลอดชีวิต จากข้อมูลที่อธิบายก่อนหน้านี้ได้บอกไว้ว่าโรคกระเพาะเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่ต้องมองย้อนกลับไปที่สาเหตุ แต่คนไข้อาจจะไม่มองที่สาเหตุ เลยทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
หลายคนอาจเข้าใจว่า โรคกระเพาะเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ลองถามตัวเองดูก่อนว่า ที่กินยามาตั้งนานแล้วไม่หายซักที เราได้ย้อนกลับไปรักษาที่สาเหตุของการเกิดโรคด้วยหรือยัง
อ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนคงหาคำตอบได้แล้วใช่มั้ยคะว่า ทำไมเภสัชกรถึงบอกคนไข้คนนั้นว่า “โรคกระเพาะอาหาร ไม่ใช่โรคประจำตัว”
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : pobpad.com , หาหมอ.com