อาการไอ (Cough) เป็นหนึ่งในอาการนำที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ามาพบแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อรับการรักษา โดยการรักษาหรือบรรเทาอาการไอนั้น มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ การใช้ยาแผนปัจจุบัน รวมไปถึงการใช้ยาสมุนไพร
การไอเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้น ที่มากระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ (Cough receptor) ที่กระจายอยู่ทั่วในระบบทางเดินหายใจ โดยอาการไอเป็นหนึ่งในกลไกป้องกันสำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งการไอยังมีข้อเสีย คือ
การเป็นช่องทางการแพร่กระจายเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย
กลไกการเกิดอาการไอ
อาการไอเกิดจากการที่มีสิ่งกระตุ้นมากระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ (cough receptors) ที่กระจายอยู่ทั่วระบบทางเดินหายใจ และส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5, 9 และ 10 (ส่วนใหญ่) ไปยังศูนย์ควบคุมอาการไอในก้านสมองส่วน medulla แล้วส่งสัญญาณออกจากก้านสมองส่วน medulla ไปยังกล่องเสียง หลอดลม และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ผ่านทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอตามมา
อะไรบ้าง? ที่กระตุ้นให้เกิดอาการไอได้
- การกระตุ้นเชิงกล (Mechanical) เช่น เสมหะ หรือการกดเบียดจากก้อนเนื้องอก
- การกระตุ้นจากการอักเสบ (Inflammatory) เช่น การอักเสบจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- การกระตุ้นจากสารเคมี (Chemical) เช่น กลิ่น หรือควัน
- การกระตุ้นจากสภาวะอุณหภูมิ (Thermal) เช่น อากาศร้อน หรืออากาศเย็น
ประเภทของอาการไอ
- ไอมีเสมหะ คือ อาการไอร่วมกับมีเสมหะในทางเดินหายใจ นิยมใช้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในการบรรเทาอาการไอ
- ไอไม่มีเสมหะ คือ อาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะร่วมด้วย นิยมใช้ยากดอาการไอหรือยาขยายหลอดลม
Levodropropizine ยาแก้ไอ อีกหนึ่งทางเลือก
ยา Levodropropizine เป็นยาชนิดหนึ่งที่มีความสามารถบรรเทาอาการไอได้ ด้วยฤทธิ์การกดอาการไอ ยาชนิดนี้มีการใช้หลากหลายในแถบทวีปยุโรป แต่อาจพบเห็นได้น้อยในประเทศไทยและแถบอเมริกา
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Levodropropizine
Levodropropizine สามารถยับยั้ง Cough reflex ได้ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral) ซึ่งยาสามารถยับยั้งการปลดปล่อยสารสื่อประสาท (Neuropeptide) ของเส้นประสาท ส่งผลให้สัญญาณประสาทคำสั่งที่ถูกส่งเข้าสู่ศูนย์ควบคุมการไอ (Cough center) ถูกยับยั้งไป จึงทำให้ยามีฤทธิ์ในการกดอาการไอได้
การศึกษาในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หอบหืด (Allergic asthma) พบว่า ยา Levodropropizine สามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดลมที่ถูกกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ที่สูดเข้าทางจมูกได้
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยา Levodropropizine สามารถยับยั้งอาการไอที่ถูกกระตุ้นด้วยสารเคมี และป้องกันหลอดลมหดตัวจากการกระตุ้นด้วย Histamine, Serotonin และ Bradykinin
+ ยา Levodropropizine เปรียบเทียบกับยา Dextromethorphan +
จากการศึกษาประสิทธิภาพของยา Levodropropizine เปรียบเทียบกับยา Dextromethorphan ทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่พบว่า ยา Levodropropizine มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการไอ และความรุนแรงของการไอ ได้ไม่แตกต่างจากยา Dextromethorphan ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม และพบว่ายา Levodropropizine มีประสิทธิภาพในการลดการตื่นนอนในตอนกลางคืนจากอาการไอได้มากกว่ายา Dextromethorphan
ในขณะที่อาการข้างเคียงจากการใช้ยา ในเรื่องอาการง่วงนอน พบว่ายา Levodropropizine ทำให้เกิดอาการข้างเคียงในเรื่องดังกล่าวได้น้อยกว่ายา Dextromethorphan
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์-ความเสี่ยงของการใช้ยา จึงพบว่ายา Levodropropizine ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ายา Dextromethorphan
ข้อบ่งใช้ของยา Levodropropizine
ยับยั้งการไอ (ยาแก้ไอ) โดยออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนปลาย สำหรับอาการไอแบบไม่มีเสมหะ (ไอแห้ง, Non-productive cough)
รูปแบบยา Levodropropizine ที่มีจำหน่าย
- Levodropropizine Syrup 0.6%* (ในยา 1 mL ประกอบด้วยยา Levodropropizine 6 mg)
- Levodropropizine Tablet 60 mg
* ในประเทศไทยยา Levodropopizine มีจำหน่ายในรูปแบบ Syrup เท่านั้น
ขนาดยาและวิธีใช้ยา Levodropropizine
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทานยาครั้งละ 10 mL (2 ช้อนชา หรือเทียบเท่ากับยา Levodropropizine 60 mg) วันละ 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 6 ชม. ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 7 วัน**
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปี: ขนาดยา Levodropropizine 3 mg/kg/day* แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 6 ชม. ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 7 วัน**
* เนื่องจากขนาดยาในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ต้องมีการคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยา
** ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หากหลังจากนี้อาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์
การใช้ยาในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม
- เด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี: ไม่มีการศึกษาการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- สตรีมีครรภ์: ไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- สตรีให้นมบุตร: ไม่ควรใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่อง: ห้ามใช้ยานี้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง: ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
อาการข้างเคียงจากการใช้ยา
- ระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนที่หน้าอก ไม่สบายท้อง ท้องเสีย
- ระบบประสาทส่วนกลาง: อ่อนเพลีย ง่วงนอน เวียนศีรษะ เหน็บชา เป็นลม
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด: ใจสั่น
- อาการแพ้ที่ผิวหนัง พบได้น้อยมาก
ยา Levodropropizine มีฤทธิ์กดอาการไอ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนปลาย มีประสิทธิภาพในการลดอาการไอได้ดีไม่แตกต่างจากยา Dextromethorphan อีกทั้งยังมีอาการข้างเคียงในการทำให้ง่วงนอนน้อยกว่ายา Dextromethorphan อีกด้วย ดังนั้นยา Levodropropizine จึงเป็นยาอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ป่วยที่มีอาการไอแบบไม่มีเสมหะได้เลือกใช้กัน
* ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
แปลและเรียบเรียงโดย : อยู่กับยา
แหล่งข้อมูล : Levopront syrup product information, Ivorin product information, Bronal syrup product information, อาการไอ (Cough) โดย รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน, เวชศาสตร์ทันยุค 2556 โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, Levodropropizine for treating cough in adult and children: a meta-analysis of published studies., Mechanisms of Action of Central and Peripheral Antitussive Drugs.