ถ้าพูดถึงยาแก้ปวดเม็ดเล็กๆ สีส้มๆ หลายคนอาจจะร้องอ่อ แต่พอบอกว่ายาแก้ปวด diclofenac น้อยคนนักที่จะจำชื่อยาได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ภายใต้สีสันน่าทานของเม็ดยา มีอันตรายอะไรซ่อนอยู่ วันนี้ทีมงานจะมาพูดถึงอันตรายของเจ้ายา Diclofenac ให้ได้ทราบกันค่ะ
Diclofenac(ไดโคลฟีแนค) คือยาอะไร?
ยา Diclofenac (ไดโคลฟีแนค) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวด (บรรเทาปวด) กลุ่มเดียวกันกับยา NSAIDs, non-steroidal inflammatory drugs เป็นทั้งยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ใช้ลดและบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดข้อ กระดูก หรือการปวดชนิดเฉียบพลันจากการถูกกระแทกและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดฟัน หรือช่วยลดอาการปวดจากนิ่วในไตและนิ่วในถุงน้ำดีได้อีกด้วย
ยาแก้ปวด Diclofenac อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือ
มาทำความรู้จักภาวะหัวใจหยุดเต้นก่อนดีกว่า
ภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) เป็นภาวะที่หัวใจทํางานผิดปกติจนกระทั่งไม่มีการบีบตัวหรือ
หยุดเต้น และการไหลเวียนโลหิตภายในร่างการหยุดลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างการไม่เพียงพอ เมื่ออวัยวะและเซลล์ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงนานๆ จะทําให้สูญเสียการทํางานอย่างถาวร
Diclofenac(ไดโคลฟีแนค) กับภาวะหัวใจหยุดเต้น(Cardiac Arrest)
มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในการใช้ยาแก้ปวด ซึ่งมีผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกันคือ
พบว่า ยาแก้ปวดกลุ่ม Non-selective NSAIDs ได้แก่ Aspirin, Ibuprofen, Naproxen และ Diclofenac อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับยาแก้ปวดกลุ่มอื่นๆ ซึ่ง Diclofenac เป็นตัวที่พบความเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาคือ Ibuprofen นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาหนึ่ง จาก Institute for Clinical Evaluative Sciences, Toronto, ON ได้กล่าวถึง Diclofenac ว่า
ยาในกลุ่ม NSAIDs สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมักจะสัมพันธ์กับขนาดยาที่ใช้ แต่สำหรับDiclofenac นั้น ขนาดยาที่ใช้โดยทั่วไปคือ 100-150 mg ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดที่สูงพอที่จะสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้
ซึ่งในต่างประเทศผู้ป่วยสามารถซื้อยา Diclofenac ได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์หรือเรียกว่าเป็นยา over the counter ส่วนในประเทศไทยยา Diclofenac นั้นจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาใช้ยาแก้ปวดจึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และหากคนไข้มีประวัติเป็นโรคหัวใจควรรีบแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันทีเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาค่ะ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : NSAIDs and cardiac arrest: Non-steroidal anti-inflammatory drug use is associated with increased risk of Out-of-hospital Cardiac Arrest: A nationwide Case-Time-Control study, Diclofenac and ibuprofen are associated with increased risk of cardiac arrest