ยาที่ต้องระวังในผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พี-ดี

โดย Boontharika Boonchaisaen
G6PD feature img

เวลาเภสัชกรจ่ายยา.. นอกจากคำถามที่เราเคยได้ยินกันเป็นประจำว่า ชื่อ-นามสกุลอะไร, มีประวัติแพ้ยาหรือไม่, มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ยังมีอยู่อีกหนึ่งคำถามที่เภสัชกรทุกคนควรใส่ใจนั่นก็คือ “เป็นจี-6-พี-ดีหรือไม่?” 

หลายคนอาจกำลังงงว่า “จี-6-พี-ดีคืออะไร” และสำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องถามก่อนจ่ายยาด้วย วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาอธิบายให้เข้าใจกันค่ะ

จี-6-พี-ดี คืออะไร?

red blood cell

G-6-PD(Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) หรือเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส เป็นเอนไซม์ที่อยู่ในเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้พลังงาน สร้างสารในเซลล์ กำจัดสารที่เป็นพิษต่อเซลล์ และปกป้องเม็ดเลือดแดงไม่ให้ถูกทำลายได้ง่าย

ภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี(G6PD deficiency) คืออะไร?

ภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี(G6PD deficiency)ในเม็ดเลือดนั้น เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเกิดจากความผิดปกติของยีนจี-6-พี-ดี ที่อยู่บนโครโมโซมเพศ ซึ่งภาวะนี้จะติดตัวไปตลอดชีวิตและอาจถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อาจมีอาการที่สำคัญได้ 3 อย่างคือ ภาวะซีดอย่างเฉียบพลัน ภาวะเหลืองจัดในทารกแรกเกิด และภาวะซีดเรื้อรัง

ยาที่ต้องระวังในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี

ยาบางชนิดอาจกระตุ้นให้ผู้มีภาวะนี้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตก ซีดลง มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะเป็นสีดำ หรือสีโค้ก อย่างเฉียบพลัน ได้ ดังตารางต่อไปนี้

drug avoid list in G6PD

ขอบคุณภาพจาก http://www.cych.org.tw/pharm/MIMS%20Summary%20Table-G6PD.pdf

หมายเหตุ *Definite risk of hemolysis คือ ยาที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี และ *Possible risk of hemolysis คือ ยาที่ควรใช้ด้วยความระวัดระวัง แต่ถ้าจำเป็นสามารถใช้ได้(ทั้งนี้อาจขึ้นกับขนาดยาที่ใช้)

อาหารและสารเคมีที่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

นอกจากยาบางชนิดที่ต้องระวังในผู้มีภาวะนี้แล้ว ยังมีอาหารและสารเคมีบางชนิดที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังด้วยเช่นกัน คือ

  • ถั่วปากอ้า (fava bean) โดยรับประทานผลดิบ
  • บลูเบอร์รี่
  • ไวน์แดง
  • ลูกเหม็น (naphthalene)
  • การบูรและพิมเสน (camphor)
  • Toluidine blue (สารช่วยวินิจฉัยมะเร็ง)
  • สารช่วยวินิจฉัย organic arsenic

อาหารและสารเคมีที่ควรระวังในภาวะG6PD

สังเกตได้อย่างไร ว่าเกิดเม็ดเลือดแดงแตก ?

ผู้ป่วยจะซีดลงทันที เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกในหลอดเลือด จะสังเกตเห็นปัสสาวะเป็นสีดำหรือสีโค้ก เนื่องจากฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกกรองออกมากับไต  ซึ่งจำเป็นต้องนำส่งรพ.เพื่อให้การรักษาประคับประคองทันที

อันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อมีเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน คือ ภาวะไตวาย เนื่องจากไตขาดเลือดเฉียบพลันเพราะขาดเม็ดเลือดแดงที่นำออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง และยังได้รับฮีโมโกลบินปริมาณมากซึ่งเป็นพิษต่อไตโดยตรง

การรักษาเป็นการรักษาประคับประคอง เช่น การให้เลือด การให้น้ำที่เพียงพอเพื่อป้องกันไตวาย ส่วนการแตกของเม็ดเลือดแดงจะหยุดได้เอง

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดี

  • แจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
  • เมื่อเกิดอาการไม่สบาย ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง
  • เมื่อเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ควรเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาทันที
  • หลีกเลี่ยงยา อาหารหรือสารที่อาจกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตก
  • เมื่อจะมีบุตรควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อวางแผนครอบครัว และเพื่อทราบถึงอัตราเสี่ยงของการที่บุตรจะมีภาวะนี้

G6PD books

อย่าลืมพกสมุดประจำตัวผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พี-ดีติดตัวอยู่เสมอ และยื่นให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกรดูทุกครั้งนะคะ

Facebook Comments

You may also like