สิว… อาจเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คงไม่มีใครอยากให้เรื่องธรรมชาตินี้เกิดขึ้นกับตัวเองใช่ไหมคะ เพราะถ้าสิวอยู่กับขึ้นที่หน้าเราแค่เม็ดเดียว แต่อาจทำให้เสียความมั่นใจไปหลายวัน
สิว(Acne vulgaris) เกิดจากการอักเสบของหน่วยรูขุมขนและต่อมไขมัน( Pilosebaceous unit) โดยมากมักเป็นบริเวณหน้า ลำคอและลําตัวส่วนบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต่อมไขมันขนาดใหญ่อยู่หนาแน่น มักพบในวัยรุ่น แต่บางคนอาจเป็นๆหายๆจนอายุเลย 40 ปีก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดสิวนั่นเองค่ะ
สาเหตุการเกิดสิว
สาเหตุของการเกิดสิวมีหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
- การแบ่งตัวของผิวหนังชั้น stratum corneum มากเกินไป(Hyperkeratinization)
- การอักเสบที่สัมพันธ์กับเชื้อแบคทีเรียชนิด Pro pionibacterium acnes(P.Acnes)
- การขับของซีบัม(Sebum) หรือไขมันที่มากเกินไปร่วมกับการอุดตันของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุด
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทั้งระดับฮอร์โมน androgen ซึ่งจะมีระดับสูงในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศชาย ทําให้เราพบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ และระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มักจะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ทําให้มีการบวมของรูขุมขน และการคั่งของน้ำในร่างกาย ทำให้ผู้หญิงบางรายสิวเห่อขึ้นได้ในช่วงนี้
ระดับความรุนแรงของสิว
สิว (Acne vulgaris) มักแสดงออกมาทั้งในรูปสิวหัวเปิด(Open comedones) หรือสิวหัวปิด(Closed comedones) รวมถึงการอักเสบของผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นนูน(Papules) ตุ่มหนอง(Pustules) ตุ่มใหญ่หรือสิวหัวช้าง(Nodules หรือ cysts)โดยการแบ่งความรุนแรง นิยมใช้วิธีการนับจำนวนสิวร่วมกับการดูชนิดของสิว ดังนี้
- สิวเล็กน้อย (mild acne) มีหัวสิวไม่อักเสบ(comedones )เป็นส่วนใหญ่ หรือมีสิวอักเสบ(papules และ pustules)ไม่เกิน 10 จุด
- สิวปานกลาง (moderate acne) มี papules และ pustules ขนาดเล็กจํานวนมากกว่า 10 จุด
และ/หรือ มี nodule น้อยกว่า 5 จุด - สิวรุนแรง (severe) มี papules และ pustules มากมาย มี nodules หรือ cysst เป็นจํานวนมาก หรือมีnodule อักเสบอยู่นานและกลับเป็นซ้ำหรือมีหนองไหลร่วมด้วย
การรักษาสิว
จากแนวทางการรักษาสิวด้วยยาของสมาคมแพทย์ผิวหนังสหรัฐอเมริกา (American Academy of Dermatology) ได้มีแนวทางในการรักษาสิว โดยแบ่งตามความรุนแรงของสิว ดังตารางต่อไปนี้
จากตารางแนวทางการรักษาสิวด้วยยาด้านบน หลายคนน่าจะพอเข้าใจบ้างแล้วว่า สิวที่ขึ้นอยู่บนใบหน้าเราตอนนี้ อยู่ในระดับความรุนแรงใด และควรรักษาด้วยยาประเภทไหน
แต่ปัจจุบันได้มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอยากหายอย่างไว ต้องกินยารักษา และยาที่หลายคนชอบซื้อมากินเองนั้น ก็คือ “ยา Isotretinoin” ซึ่งความจริงแล้ว ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ ไม่สามารถซื้อขายเองตามร้านค้า ร้านขายยา หรือแม้แต่สั่งซื้อออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
เหตุผลที่ไม่ควรซื้อยา isotretinoin มารับประทานเอง
- ยา isotretinoin มีผลทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ และแม้ว่าเด็กทารกที่คลอดออกมาจะมีความปกติแต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองและเชาว์ปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับยา isotretinoin จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย
- หญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยา isotretinoin
- ผู้รับประทานยา isotretinoin ต้องไม่บริจาคเลือดในระหว่างที่รับประทานยาและจนกระทั่งหลังจากหยุดรับประทานยา ไปแล้ว 1 เดือน
- การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้ผิวหนังแห้ง ลอก และไวต่อแสง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด นอกจากนี้อาจมีอาการตาแห้ง ปากและคอแห้งได้เช่นกัน
- การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้เกิดความบกพร่องในการได้ยิน หรือเกิดเสียงหวีดในหู(tinnitus) ได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยา isotretinoin ร่วมกับวิตามิน A, สมุนไพรชื่อ St. John’s Wort และยาtetracycline
- isotretinoin มีความเป็นพิษต่อตับ(hepatotoxicity) ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจค่าการทำงานของตับ(liver function test) อยู่เสมอ หากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองควรหยุดยาและรีบมาพบแพทย์
- การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง(hyperlipidemia) โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์(triglyceride) ดังนั้นควรมีการตรวจระดับไขมันในเลือดอยู่เสมอในระหว่างที่รับประทานยา และหากไม่สามารถควบคุมระดับไขมันที่สูงขึ้นได้ ควรหยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์
- การรับประทานยา isotretinoin อาจทำให้เกิด inflammatory bowel disease(IBD), ปวดกล้ามเนื้อ(arthralgia), กล้ามเนื้อถูกทำลายอย่างรุนแรง(rhabdomyolysis) ได้เช่นกัน
- การรับประทานยา isotretinoin ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน(มากกว่า 6 เดือน) อาจทำให้ความหนาแน่นกระดูก(bone mineral density) ลดลง และอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกนุ่ม รวมถึงภาวะกระดูกพรุนอีกด้วย
- พบการรายงานเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า จิตเภท มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว มีความคิดหรือมีความพยายามในการฆ่าตัวตาย(พบได้แต่น้อยมาก) จากการรับประทานยา isotretinoin ดังนั้นผู้รับประทานยาควรได้รับการประเมินความผิดปกติทางด้านจิตใจก่อนการรับประทานยา และผู้รับประทานยาควรแจ้งแพทย์ทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม
สิว เป็นเรื่องธรรมชาติที่อาจเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และสามารถหายได้เช่นกัน แต่ต้องอาศัยเวลา และความอดทน พร้อมกับการดูแลรักษาความสะอาดของใบหน้า
ที่สำคัญหากเป็นสิวขั้นรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง ดีกว่าการซื้อยามารับประทานเองนะคะ เพราะนอกจากสิวจะไม่หายแล้ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วยค่ะ
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : องค์การเภสัชกรรม, แนวทางการดูแลรักษาโรคAcne, คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล