วันนี้แอดมินได้มีโอกาสไปร่วมฟังการประชุมวิชาการหัวข้อ “หัวใจสัญจร” เป็นการบรรยายเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดจัดขึ้นโดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ซึ่งพบเรื่องน่าตกใจเพราะจากข้อมูลสถิติองค์การอนามัยโลก ปี 2555 รายงานว่า
มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 7.4 ล้านคน จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พ.ศ.2555 – 2558 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจต่อประชากร 100,000 คนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น หากประเทศไทยมีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดก็คงจะดีไม่น้อย ซึ่งฝันก็เป็นจริงแล้ว เพราะตอนนี้ได้พัฒนาโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันเพื่อประเมินภาวะดังกล่าวสำเร็จแล้ว ชื่อแอปว่า “Thai CV risk calculator”
มาทำความรู้จักโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดกันก่อนดีกว่า
โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง, อัมพฤกษ์, อัมพาต เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ และเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิต อันดับต้นๆของประชากรไทย
สาเหตุเกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ได้แก่ การรับประทานที่มากเกินไป, รับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม, รับประทานผักผลไม้น้อย, ใช้เครื่องอํานวยความสะดวกมากขึ้น, มีกิจกรรมทางกายน้อยลงหรือไม่ออกกําลังกาย, เครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมสุขภาพดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน, อ้วน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, เบาหวาน และทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดตามมานั่นเองค่ะ
แอปพลิเคชัน Thai CV risk calculator คืออะไร
เป็นโปรแกรมที่ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแสดงผลการประเมินเป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยที่ใช้ในการทำนายความเสี่ยง คือ เพศ, อายุ, ความดันโลหิต, ระดับไขมัน, เบาหวาน, การสูบบุหรี่,รอบเอว และระดับการศึกษา แบบประเมินนี้สร้างขึ้นจากการติดตามศึกษาหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยภายใต้โครงการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยถึง 9,000 คน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีชื่อการศึกษาว่า “EGAT study”
แบบประเมินความเสี่ยงนี้ควรใช้เฉพาะในคนไทยที่มีอายุ 35-70 ปีที่ยังไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด และไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจหรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้เข้ารับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ
ขั้นตอนการใช้งาน มีดังนี้
- โหลดแอปพลิเคชัน ลงสมาร์ตโฟน โดยค้นหาจากคำว่า “Thai CV risk score หรือ thaiCVriskscore หรือ TCVRS” ซึ่งแอปนี้รองรับได้ทั้งระบบ iOs และ Andriod เลยนะคะ
- กดเลือกที่ตัวแอปแล้วกรอกข้อมูลดังนี้
- ข้อมูลทั่วไป คือ อายุ, เพศ, การสูบบุหรี่, เบาหวานและความดันโลหิต
- กรณีไม่ทราบผลเลือด คือ รอบเอวเป็นนิ้วและส่วนสูงเป็นเซนติเมตร
- กรณีทราบผลเลือด คือ ระดับไขมัน(โคเลสเตอรอลรวม, โคเลสเตอรอลเลว/LDL, โคเลสเตอรอลดี/HDL)
- หลังจากกรอกข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้วกดที่คำว่า “แสดงผล” โดยผลการประเมินจะอธิบายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าเป็นเปอร์เซ็นต์(%) จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงใด(สูง,น้อย,ปานกลาง) และเป็นกี่เท่าเมื่อเทียบกับคนไทยเพศเดียวกัน อายุเท่ากันและปราศจากปัจจัยเสี่ยง พร้อมข้อแนะนำเบื้องต้นให้ไปปฏิบัติตาม
หมายเหตุ : ผลการประเมินที่ได้จากแอปพลิเคชันนี้ไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้ การตรวจรักษาเพิ่มเติมหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และคนไข้เท่านั้น
ป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างไร?
- ฝึกนิสัย “ชิมก่อนเติม กินอาหารรสชาติพอดี” (นํ้าตาล ไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน เกลือโซเดียม ไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน)
- ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม, ตุ๋น, นึ่ง, อบ, ยําและผัดที่ไม่มันมากกว่าอาหารทอด
- ลดการใช้นํ้าปลา, เกลือและเครื่องปรุงรส หันมาใช้เครื่องเทศและสมุนไพรแทน เช่น หัวหอม, กระเทียม, ขิง, พริกไทย, มะนาว, ผงกระหรี่ เป็นต้น
- เลือกซื้อผัก, ผลไม้และเนื้อสัตว์ (ปลา, ไก่ไม่ติดหนังหรือติดมัน) ที่สดใหม่มาปรุงอาหารรับประทานเอง
- ออกกําลังกาย หรือออกแรงเคลื่อนไหวปานกลาง สม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป้าหมายเพื่อควบคุมให้นํ้าหนักตัวที่เหมาะสม (ดัชนีมวลกาย ไม่เกิน 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร, รอบเอวไม่เกินส่วนสูงหารสอง)
- ผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อน, ออกกำลังกาย, ฟังเพลงหรือร้องเพลง, พูดคุยหรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เป็นต้น
- ลดการดื่มสุรา
- ไม่สูบบุหรี่
อย่าลืมโหลด Thai CV risk calculator ติดสมาร์ตโฟนของคุณ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ก่อนที่จะสายเกินไป จนรักษาไว้ไม่ทันนะคะ
สามารถโหลดแอป Thai CV risk calculator ได้แล้ววันนี้
ระบบ iOs >> โหลดที่นี่
ระบบ Android >> โหลดที่นี่
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : Guidelines for Assessment of Cardiovascular Risk, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม