อีกข่าวหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในวงการเครื่องสำอางอยู่ ณ ตอนนี้คือ การตัดสินของคณะลูกขุนแห่งศาลแคลิฟอร์เนียให้แป้งเด็กโรยตัวชื่อดังยี่ห้อหนึ่งจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นจำนวน 417 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,850 ล้านบาท จากกรณีที่มีหญิงสาววัย 63 ปีรายหนึ่งร้องเรียนว่า
เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้ายเนื่องจากใช้แป้งเด็กยี่ห้อดังกล่าวทาอวัยวะเพศมานานกว่าสี่สิบปี และอ้างว่าตัวผลิตภัณฑ์ไม่ได้ระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงของสารทัลก์ในแป้งฝุ่น ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ พร้อมกับระบุว่า ทางบริษัททราบดีถึงความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งจากสารทัลก์ แต่ปกปิดข้อมูลดังกล่าวต่อผู้บริโภค
แต่ทางบริษัทที่ผลิตแป้งเด็กยี่ห้อดัง ได้แถลงว่า จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของคณะลูกขุน เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าแป้งเด็กทาตัวของบริษัทมีความปลอดภัย โดยอ้างศูนย์ข้อมูลการแพทย์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาว่า
หลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะสนับสนุนว่า การทาแป้งฝุ่นที่มีส่วนผสมของทัลก์บริเวณอวัยวะเพศนั้น มีความเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งรังไข่
แต่ก่อนที่ผู้บริโภคจะเชื่อในข่าวนั้น เราควรมารู้จักข้อมูลของแป้งทัลก์ เพื่อนำไปพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าวกันดีกว่าค่ะว่า ข้อมูลในข่าวที่เราเสพกันมา จริงหรือไม่?
แป้งทัลก์ คืออะไร?
แป้งทัลก์ หรือแป้งทัลคัม ทำมาจากทัลก์ เป็นแร่ธาตุที่มีธาตุองค์ประกอบหลักคือ แมกนีเซียม ซิลิคอน และออกซิเจน มีความสามารถในการดูดซับความชื้นและลดแรงเสียดสีได้ดี เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผิวแห้งและช่วยป้องกันผดผื่นคันได้ จึงนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมกันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้งฝุ่นโรยตัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือแป้งทาหน้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย
แร่ทัลก์เกิดจากการนำหินทัลก์ มาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็น Unclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้)
แป้งทัลก์ ทำให้เกิดมะเร็งได้จริงหรือไม่
ทัลก์จัดเป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่ถูกย่อยสลายตามธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าโรยแป้งฝุ่นในปริมาณมาก ผงแป้งจะลอยฟุ้งกระจายในอากาศ หากสูดดมเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอดทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการโรยแป้งไปที่ตัวโดยตรง แต่ควรเทใส่มือในปริมาณน้อยๆ และลูบไล้ที่มือก่อนทาบางๆ บนตัว ส่วนสตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น
ซึ่งในปี ค.ศ. 1970 คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The U.S. Food and Drug Administration) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีแป้งทัลก์ผสมอยู่ ไม่พบการปนเปื้อนของแอสเบสตอส (Asbestos)
ในส่วนของประเทศไทย อย.ขอชี้แจงว่า ทัลก์หรือทัลคัม (Talc หรือ Talcum powder) เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัว ทัลก์พบได้ในแร่ธาตุตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 เกรด ได้แก่ เกรดที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเกรดที่ใช้ในยา อาหารและเครื่องสำอาง ต้องใช้ทัลก์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหินหรือแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งเป็นสารที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
อย.เผยว่า สำหรับกรณีการปนเปื้อนของแร่ใยหินหรือแอสเบสตอส (Asbestos)ในทัลก์ อย.มีการติดตามเฝ้าระวังมาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2552-2553 ได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลก์จำนวน 40 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2558 อย.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่มีส่วนผสมของทัลก์ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัว จำนวน 73 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่น่าวิตกกังวลกับข่าวดังกล่าว
ข้อควรระวังในการใช้แป้งทัลก์
- ควรอ่านฉลากหรือคำแนะนำในผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปาก
- ไม่ควรสูดดมแป้ง
- สตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณอวัยวะเพศ
แปลและเรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งที่มา : BBC News, Hfocus, American Cancer Society