มีคนเคยบอกไว้ …
คนที่ทำให้คนอื่นมีความสุขที่สุด แท้จริงแล้วเขาอาจเป็นคนที่กำลังเศร้าที่สุด อยู่ก็ได้
เหมือนข่าวที่กำลังดังกระหึ่มในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ คือ “ข่าวการเสียชีวิตของ เชสเตอร์ เบนนิงตัน(Chester Bennington)” นักร้องนำวง Linkin park วงร็อคที่มีชื่อเสียงมากวงหนึ่งของโลก เนื้อหาข่าวรายงานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากโรคซึมเศร้า ที่เขาเคยมีประวัติบำบัดรักษามาก่อนหน้านี้
โรคซึมเศร้าคืออะไร
เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที
สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง
-
กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง
-
สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาต้านซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลของระบบสารเคมีเหล่านี้นั่นเองค่ะ
-
ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าอยู่?
อาจสังเกตจากพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจมีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
ผู้ที่เป็นอาจไม่มีอาการตามนี้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาการหลักๆ จะมีคล้ายกัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป ที่พบบ่อยคือกลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
- ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองจะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ซึ่งความคับข้องใจ ทรมานจิตใจเหล่านี้ อาจทำให้คิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
- สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากไม่มีสมาธิ เช่น ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
- มีอาการทางร่างกายต่างๆ ร่วม ที่พบบ่อยคือรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งเมื่อพบร่วมกับอารมณ์รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ปัญหาด้านการนอนก็พบบ่อยเช่นกัน มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง บางคนอาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
- ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะดูซึมลง ไม่ร่าเริง แจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม
- การงานแย่ลง ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง ในช่วงแรกๆ ผู้ที่เป็นอาจจะพอฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่พอเป็นมากๆ ขึ้นก็จะหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
- อาการโรคจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรงซึ่งนอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้ามากแล้ว จะยังพบว่ามีอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วแต่เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตามไปด้วย
จากข้อมูลของสำนักข่าว post today ได้เผยถึงประวัติชีวิตอันน่าเศร้าของนักร้องดังคนนี้ว่า ในวัยเด็กเขาเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเขามีชีวิตวัยเด็กที่ลำบาก หลายครั้งเขาถูกเพื่อนที่อายุมากกว่าทำร้ายร่างกาย และโดนล่วงละเมิดทางเพศตอนที่มีอายุได้เพียง 7 ขวบ และพออายุ 11 ขวบ พ่อกับแม่ของเขาก็หย่ากัน เชสเตอร์ไปอาศัยอยู่กับพ่อ เมื่อเขาอายุ 13 เขาก็เริ่มติดยา เพราะเขาจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเวลาเมายา และรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งรอบตัวได้มากขึ้นในขณะที่เมายาอยู่ แต่หลังจากเขาได้เป็นนักร้องนำวง Linkin Park เขาก็ตัดสินใจเลิกยา และต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาโดยตลอด และได้นำเอาประสบการณ์เหล่านี้ ถ่ายทอดออกมาในบทเพลงของเขา
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือ “การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า” โดยเฉพาะในรายที่อาการหนักมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่หนักมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนะนำแนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาต้านซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลเสริม
การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า
ความเศร้าอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะบางครั้ง ความเศร้า อาจเปลี่ยนโลกได้ เช่นการใช้ความเศร้าเพื่อมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะ หรือการแต่งเพลงเหมือนกับ เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องหนุ่ม แห่งวงร็อคในตำนาน Linkin park