ยาเบาหวาน Metformin กับการรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovary Syndrome)

โดย Boontharika Boonchaisaen

วันนี้แอดมินมีบทความดีๆ สำหรับคุณผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงาน หรืออาจจะแต่งงานนานแล้ว และกำลังวางแผนครอบครัวเรื่องมีบุตรอยู่ อยากให้อ่านกันดูค่ะ เพราะหลายท่านที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์แต่อาจโชคร้ายตรวจพบว่ากำลังเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือเรียกสั้นๆว่า PCOS อยู่ ซึ่งคุณหมอบางท่านอาจสั่งยาเบาหวานให้รับประทาน นั่นคือยา Metformin(เมทฟอร์มิน) แต่เอ๊ะ! ตัวเองก็ไม่ได้เป็นเบาหวานนี่นา แล้วคุณหมอทำไมถึงสั่งยาเบาหวานให้ล่ะ สงสัยใช่มั้ยคะว่า ทำไม? ยาตัวนี้เกี่ยวอะไรกับภาวะมีบุตรยาก มาไขข้อข้องใจไปพร้อมกันเลยค่ะ

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovary Syndrome, PCOS) คืออะไร

PCOS

ขอบคุณภาพจาก https://www.medthical.com/polycystic-ovarian-syndrome.html

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome, PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อและเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 5-10ในสตรีวัยเจริญพันธุ์

อาการแสดง ได้แก่ รอบระดูไม่สม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่จะมีรอบระดูห่างกว่า 35 วัน เช่น มีระดูทุก 2-6 เดือนหรือในช่วง1ปี มีระดูน้อยกว่า 8 ครั้ง และมีอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น หน้ามัน, สิวขึ้นง่าย, ขนดกรวมทั้งลักษณะของรังไข่จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์จะเห็นถงุน้ำเล็กๆ หลายใบในรังไข่

สาเหตุของการเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovary Syndrome, PCOS)

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวกับความผิดปกติของกลไกในร่างกาย ดังนี้

  • ความผิดปกติที่ทําให้เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ระดูมาไม่สม่ำเสมอและนํามาสู่ภาวะมีบตุรยาก
  • ความผิดปกติของระดับหรือการทํางานของฮอร์โมนเพศชาย ทําให้มีอาการแสดงออก คือ หน้ามันสิวขึ้นง่ายและขนดก เป็นต้น
  • ความผิดปกติของการทํางานของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในร่างกายทําให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

การรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovary Syndrome, PCOS)

  1. การรักษาให้รอบระดูมาสม่ำเสมอโดยการให้รับประทานฮอร์โมนโปรเจสติน โดยรับประทานเป็นรอบๆต่อเดือนหรือให้รับประทานยาเม็ดคุมกําเนิดชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งจะได้รับประโยชน์ในการคุมกําเนิดร่วมด้วยและยาเม็ดคุมกําเนิดชนิดฮอร์โมนรวมบางกลุ่มมีฤทธิต้านฮอร์โมนเพศชาย จึงเป็นผลพลอยได้ในเรื่องการรักษาสิว, ผิวมันและขนดกร่วมด้วย
  2. ตรวจหาความผิดปกติในการเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูงและภาวะไขมันในเลือดสูง

กลุ่มอาการนี้เป็นสาเหตุให้มีบุตรยากเนื่องจากมีการตกไข่ท่ีไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นในสตรีที่ต้องการมีบุตรจึงต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยาก

มาทำความรู้จักกับยา Metformin(เมทฟอร์มิน)

metformin

Metformin(เมทฟอร์มิน) เป็นยารักษาเบาหวาน(antihyperglycemic agent) กลุ่ม biguanide หรือ insulin sensitizer มีประสิทธิภาพลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

กลไกการออกฤทธิ์ของ metformin(เมทฟอร์มิน)  นั้นคือ ไปลดการสร้างน้ำตาลที่ตับ (hepatic gluconeogenesis) ซึ่งลดปริมาณการสร้างน้ำตาลลงประมาณร้อยละ 25 ถึง 30 ของการสร้างน้ำตาลในร่างกายทั้งหมด โดยลดทั้ง fasting plasma และ postprandial glucose นอกจากนี้ metformin(เมทฟอร์มิน) ยังลดระดับ free fatty acid ในพลาสมาได้ร้อยละ 10 ถึง 30 และช่วยเพิ่ม peripheral insulin sensitivity รวมทั้งลดการดูดซึมของ glucose ที่ลำไส้ได้อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก http://tmedweb.tulane.edu/pharmwiki/doku.php/metformin

นอกจากฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว metformin(เมทฟอร์มิน) ยังมีฤทธิ์ต่อ Cardiovascular systemโดยลดอัตราการตายของหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular mortality) โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ที่ทำให้น้ำหนักตัวลด และส่งผลให้การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเกิดหลอดเลือดขนาดใหญ่(Macrovascular complications)ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มการลดลงอีกด้วย

Metformin(เมทฟอร์มิน) กับการรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ(Polycystic Ovary Syndrome, PCOS)

จากกลไกการเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบที่สัมพันธ์กับระดับอินซูลินในร่างกาย โดย Insulin growth factor (IGF) และ gonadotropins มีผลควบคุมการทำงานของรังไข่ในการสร้างสารสเตียรอยด์และการพัฒนาของฟองไข่ ภาวะอินซูลินในเลือดสูงทำให้แอนโดรเจนในเลือดเพิ่มมากขึ้น ทั้งกระตุ้นการสร้างจาก Theca cell ที่รังไข่โดยตรง หรือเพิ่มการหลัง Luteinizing hormone(LH) ที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งแอนโดรเจนมีผลกดการสร้าง Insulin growth factor binding protein 1 (IGFBP-1) ทำให้ระดับ IGF เพิ่มขึ้น

PCOS_Mechanism

ขอบคุณภาพจาก https://www.medthical.com/polycystic-ovarian-syndrome.html

และแอนโดรเจนที่มากเกินไป ยังลดระดับ Sex hormone binding globulin (SHBG) ที่สร้างจากตับ ทำให้ระดับของฮอร์โมนเพศชายอิสระเพิ่มมากขึ้นและเพิ่มการผลิต estrone ที่ไขมันใต้ผิวหนัง (peripheral conversion) ส่งผลชักนำการหลั่ง LH แต่ไม่เพิ่มการหลั่ง FSH มีการกระตุ้นให้เกิดฟองไข่ขนาดเล็กจำนวนมากที่รังไข่ แต่ไม่สามารถพัฒนาจนถึงขั้นตกไข่ได้

ซึ่งมีการศึกษาแสดงว่าการใช้ยา metformin(เมทฟอร์มิน) สามารถทำให้อาการของ PCOS ดีขึ้นโดยมีผลลดระดับน้ำตาลในภาวะอดอาหารและ LDL cholesterol โดยไม่มีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ดังนั้นยา metformin อาจจะช่วยผู้หญิงที่มีปัญหา PCOS ที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้นั่นเองค่ะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลภาควิชาสูตศิาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

Facebook Comments

You may also like