รับประทานยาพาราเซตามอลอย่างไร ให้ไม่เป็นอันตรายต่อตับ

โดย Boontharika Boonchaisaen

วันนี้มีคำถามจากแฟนเพจถามมาว่า “พาราเซตามอลขนาด 500 mg ควรทานแค่วันละเม็ดใช่หรือไม่ ถ้ากินวันละ 4 เม็ด อันตรายหรือเปล่า” วันนี้ทีมงานอยู่กับยา จะมาไขข้อสงสัยให้ได้ทราบกันค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าพาราเซตามอลกันก่อนดีกว่า

Paracetamol_label

ยาพาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน สรรพคุณของยาพาราเซตามอล(Paracetamol หรือ Acetaminophen) คือช่วยระงับปวดและลดไข้ ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ตั้งแต่ พ.ศ.2436 และใช้กันอย่างแพร่หลายในคน เนื่องจากมีข้อดีกว่าแอสไพรินตรงที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร และไม่มีผลต่อการเกาะตัวของเกล็ดเลือด(platelets) จึงไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและไม่ทำให้การแข็งตัวของเลือดเสียไป แต่อย่างไรก็ตามพาราเซตามอลไม่มีผลในการลดอักเสบเหมือนแอสไพริน จึงไม่สามารถใช้ในการลดการอักเสบของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือข้ออักเสบได้

กลไกการเกิดพิษต่อตับของยาพาราเซตามอล

ก่อนอื่นต้องเกริ่นให้เข้าใจถึงขั้นตอนการจัดการของร่างกาย เวลาที่เรากินยาแต่ละตัวเข้าไป มีด้วยกัน 4 ขั้นตอนดังนี้

  • การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย (absorption)
  • การกระจายตัวของยา (distribution)
  • การเปลี่ยนแปลงยา (metabolism)
  • การขับถ่ายยาออกจากร่างกาย (excretion)

และขั้นตอนที่เกี่ยวกับการเกิดพิษจากยาได้นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงยา(metabolism) ซึ่งขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นมากที่ตับ

Acetaminophen Metabolism

สำหรับ paracetamol ก็เช่นกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ โดยส่วนใหญ่ของยาจะทำปฏิกิริยา conjugate กับ glucuronide และ sulfate ในร่างกาย เกิดเป็นสารที่ไม่มีพิษ(nontoxic) แล้วขจัดออกจากร่างกาย ส่วนน้อยของยาจะถูกเปลี่ยนแปลง(metabolized)โดยเอนไซม์ cytochrome P-450 system เกิดเป็นสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) คือ N-acetyl-p-benzoquinoneimine(NAPQI) แต่ในร่างกายยังมี glutathione ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็น reducing agent คือช่วยป้องกันสารพิษโดยไปจับกับ paracetamol ที่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะ

ดังนั้น ถ้าร่างกายยังมี glutathione เพียงพอสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) นี้จะถูกขจัดออกไปได้ จึงไม่เกิดพิษจากยา แต่ถ้าในภาวะที่ได้รับ paracetamol เกินขนาด แม้ว่าส่วนหนึ่งของยาจะถูกขจัดออกไปแล้ว แต่ส่วนที่เหลือก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษ(toxic metabolite) จำนวนมากจนเกินที่ glutathione จะป้องกันได้หมด ผลที่ตามมาก็คือจะมีสารที่เกิดพิษ(toxic metabolite) จำนวนมากจนทำให้เกิดเป็นพิษต่อร่างกายหรือต่อตับขึ้นได้นั่นเองค่ะ

คำถามที่ 1 พาราเซตามอลขนาด 500 mg ควรทานแค่วันละเม็ดใช่หรือไม่ ?

คำตอบ คือ ขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมในคน ปัจจุบัน USFDA หรือองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำในการปรับลดขนาดยาพาราเซตามอล ที่ใช้แต่ละครั้งไม่ให้เกิน 650 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 2,600 มิลลิกรัม เพื่อลดความเสี่ยงของการที่ผู้บริโภคใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงเป็นขนาดที่แนะนำในกรณีที่ผู้บริโภคมีความไวต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วย ดังนั้นแต่ละครั้งควรบริโภคไม่เกิน 1 เม็ด(ขนาด 500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากจะเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ ดังนั้น ในพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม อาจกินได้มากกว่าวันละ 1 เม็ด แต่ไม่ควรเกิน 2600 มิลลิกรัมต่อวัน 

คำถามที่ 2 ถ้ากินพาราเซตามอลขนาด 500 mg วันละ 4 เม็ด อันตรายหรือเปล่า?

คำตอบคือ จากข้อมูลข้างต้นแนะนำว่า เพื่อลดความเสี่ยงของการที่ผู้บริโภคใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงเป็นขนาดที่แนะนำในกรณีที่ผู้บริโภคมีความไวต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วย ดังนั้นแต่ละครั้งควรบริโภคไม่เกิน 1 เม็ด(ขนาด 500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง หรือประมาณ 4 เม็ดต่อวัน ดังนั้น ถ้ากินวันละ 4 เม็ด ถือว่าปลอดภัย ไม่อันตรายต่อตับ แต่ไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 5 วันนะคะ แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องพิจารณาเป็นรายๆไป เนื่องจากต้องดูภาวะอื่นของผู้ป่วยร่วมด้วย ดังนี้

  • ผู้ป่วยเป็นผู้ที่ดื่มสุราเรื้อรังหรือไม่? เพราะถึงแม้ว่าจะรับประทานยาพาราเซตามอล ไม่เกินจากขนาดที่แนะนำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดความเป็นพิษต่อตับได้ เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีการกำจัดสารพิษ (toxic metabolite) ออกจากร่างกายได้ช้า หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการสร้างสารพิษเหล่านี้ได้มากกว่าปกติ ซึ่งจากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่พบความเป็นพิษต่อตับจากการรับประทานพาราเซตามอล ในขนาดต่ำกว่า 2500 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือไม่? ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีความไวต่อการเป็นพิษต่อตับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจะมีการสร้าง glutathione ที่จะช่วยทำลาย toxic metabolite ที่ชื่อ NAPQI ได้ลดลง
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับอยู่เดิมหรือไม่? หากเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตับขึ้น โอกาสที่การทำงานของตับจะกลับคืนสู่สภาพปกติอาจยากกว่าคนทั่วไป

liver

พาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่ก็ไม่ควรรับประทานถ้าไม่จำเป็น เพราะหากใช้ผิดวิธี อาจมีพิษต่อตับได้

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล, The U.S. Food and Drug Administration (FDA)

Facebook Comments

You may also like