รู้หรือไม่ ทำไมยาแก้แพ้บางตัวกินแล้วง่วง แต่บางตัวกินแล้วไม่ง่วง

โดย Boontharika Boonchaisaen
Antihistamine

ช่วงนี้อากาศมีอุณหภูมิลดต่ำลงเรื่อยๆ บางคนอาจรู้สึกดีใจเพราะจะได้หยิบเสื้อกันหนาวที่แขวนไว้ในตู้ออกมาใส่ซักที แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการแพ้อากาศอยู่ขณะนี้ คงรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

โรคภูมิแพ้ คือ อะไร

Allergy

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ขึ้น ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านัน แต่ในคนปกติจะไม่เกิดอาการค่ะ

อากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดโรคแพ้อากาศได้อย่างไร

ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก โดยจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น ความชื้นของอากาศ ตลอดจนกลิ่นฉุนหรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ จึงมักเรียกกันว่า “โรคแพ้อากาศ” ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการจาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล, คันจมูกจึงมักขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก, มีเสมหะในคอ, เลือดกำเดาไหลบ่อย, อาจพบอาการคันตา, แสบตา, น้ำมูกไหล, คันหูและหูอื้อได้ เป็นต้น

แพ้อากาศ กับ ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสทามีน

เมื่อเกิดปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ สารเคมีสําคัญที่จะหลั่งออกมาก็คือ “ฮิสทามีน (histamine)” ซึ่งจะกระตุ้นทําให้เกิดอาการต่างๆของโรคภูมิแพ้ ยาต้านฮิสทามีนจะไปป้องกันไม่ให้ฮิสทามีนจับกับตัวรับฮิสทามีน (histamine receptor) ที่อวัยวะต่างๆ ดังนั้นจึงช่วยบรรเทาอาการต่างๆของโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 รุ่นดังนี้

Antihistamine

ขอบคุณภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Antihistamine.jpg

  • ยาต้านฮิสทามีนรุ่นแรก (First generation antihistamine) ยกตัวอย่างเช่น ยา chlorpheniramine หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อย่อว่า CPM, diphenhydramine, cyproheptadine, hydroxyzine ยากลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงทําให้ง่วงซึม

Antihis 01

อาการข้างเคียงคือ  ทําให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง เสมหะและนํ้ามูกเหนียวข้น ท้องผูก ปัสสาวะขัดในผู้ชาย ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคหืดโดยเฉพาะขณะหอบ, โรคต้อหินและโรคต่อมลูกหมาก

ข้อควรระวังในยารุ่นนี้คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่ทํางานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือขับขี่ยานพาหนะ และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่นๆเช่น ยานอนหลับ, ยาคลายเครียด, ยากล่อมประสาท, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  • ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่สอง(Second generation antihistamine) เป็นการพัฒนายาต้านฮิสทามีนรุ่นแรก มีข้อดีกว่ารุ่นแรก คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้, ง่วงน้อยกว่า และออกฤทธิ์ได้นานกว่าเพราะจับกับตัวรับฮิสทามีนได้แน่นและนานกว่า และไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาต้านฮิสทามีนรุ่นแรก ยกตัวอย่างเช่น
    terfenadine พัฒนามาจาก chlorpheniramine*
    astemizole  พัฒนามาจาก diphenhydramine*
    loratadine  พัฒนามาจาก cyproheptadine
    cetirizine    พัฒนามาจาก hydroxyzine

*ยา terfenadine และ astemizole มีปัญหาต่อระบบหัวใจ จึงได้ถอนทะเบียนออกไป

  • ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่สาม (third generation antihistamine) เป็นยาต้านฮิสทามีนรุ่นใหม่ซึ่งพัฒนามาจากยาต้านฮิสทามีนรุ่นทีสองยกตัวอย่างเช่น
    fexofenadine พัฒนามาจาก terfenadine
    desloratadine พัฒนามาจาก loratadine
    levocetirizine พัฒนามาจาก cetirizine
     

Antihis 02

รุ่นที่สามดีกว่ารุ่นอื่นคือ ต้านการอักเสบได้ดี, ตัวยาเป็นตัวที่สามารถออกฤทธิ์(active metabolite)ได้เลย ดังนั้นจึงไม่รบกวนการทํางานของตับ, ยาออกฤทธิ์ได้นาน เพราะจับกับตัวรับฮิสทามีนได้แน่นและนานขึ้น จึงใช้เพียงวันละครั้ง, เจาะจงเฉพาะกับตัวรับฮิสทามีน ชนิด H1(histamine ) เท่านั้น จึงใช้ปริมาณยาน้อยลง

ซึ่งหลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า ทำไมยาแก้แพ้บางตัว เภสัชกรถึงแนะนำว่ากินแล้วง่วงนอน แต่บางตัวถึงแนะนำว่ากินแล้วไม่ง่วงนอน วันนี้คงไขข้อข้องใจกันได้แล้วนะคะว่า เพราะยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสทามีนนั้นมีหลายรุ่น ซึ่งรุ่นที่ทำให้ง่วงคือรุ่นแรกเพราะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง แต่รุ่นที่พัฒนามาแล้วนั้นจะไม่ง่วง นั่นเองค่ะ

เรียบเรียงโดย ยู่กับยา

แหล่งที่มา : Faculty of Medicine Siriraj Hospital

Facebook Comments

You may also like