จริงหรือไม่ ? หากป่วยเป็นมะเร็ง ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์

โดย Boontharika Boonchaisaen
คำถามที่มักจะได้ยินจากคนไข้มะเร็งบ่อยๆ อีกหนึ่งคำถามคือ …
คนไข้มะเร็งทานเนื้อสัตว์ได้มั้ยคะคุณหมอ?
และวันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาตอบปัญหาดังกล่าว ให้หายสงสัยไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
จากกรณีศึกษา.. คนไข้รายหนึ่งมาด้วยน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน (BMI=15 kg/m²) เภสัชกรได้ถามคนไข้ว่า “คุณลุงกินอาหารไม่ได้หรอคะ ทำไมน้ำหนักน้อยจัง?” คนไข้และญาติจึงตอบกลับมาว่า “ก็กินได้ปกตินะ แต่น้ำหนักไม่ขึ้นเลย” 

คำถามที่หนึ่ง คือ คนไข้รับประทานอาหารได้ “ปกติ” แต่ทำไมน้ำหนักไม่ขึ้น?

คำตอบ เซลล์มะเร็ง จะมีการหลั่งสารต่างๆ ได้แก่ cytokine, hormone, tumor derived factor ซึ่งทำให้เพิ่มขบวนการเผาผลาญ (metabolism) ของคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งต้องการสารอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนสูงขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ขอบคุณภาพจาก https://www.mdpi.com/1422-0067/19/8/2225

พูดให้เข้าใจง่าย คือ เซลล์มะเร็งเปรียบเหมือนผู้ร้ายที่จะไปแย่งอาหารคนไข้รับประทาน หากมีเซลล์มะเร็งในร่างกาย จากเดิมที่เคยรับประทาน 1 ส่วน และได้พลังงานทั้งหมด อาจต้องแบ่งให้มะเร็งครึ่งหนึ่ง ดังนั้น พลังงานที่ร่างกายได้รับจริงๆ ก็จะไม่เพียงพอ และคำพูดที่คนไข้บอกว่า “กินข้าวได้ปกติ” อาจไม่ใช่คำตอบที่เราต้องการ เพราะความจริงแล้ว คนไข้ควรรับประทานอาหาร “มากกว่าปกติ” พลังงานถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย..
และ คนไข้ได้บอกต่ออีกว่า “ไม่กล้าทานเนื้อสัตว์ เพราะได้ยินคนข้างบ้าน (อีกแล้ว) บอกว่าเนื้อสัตว์จะไปสร้างเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้น ทำให้มันแพร่กระจาย เพราะเคยมีคนข้างบ้านทานเนื้อสัตว์แล้วตาย!”

คำถามที่สอง คือ “แล้วคนข้างบ้าน เขาใช้เนื้อสัตว์ทำอาหารประเภทไหน ถึงรับประทานแล้วแล้วตาย?”

คนไข้ตอบว่า “เห็นว่าเอาไปก้อยกัปิ้ง”

ต้องอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานเนื้อสัตว์กับความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งให้ทราบก่อนคือ มีหลายการศึกษา พบความเกี่ยวข้องของเนื้อสัตว์กับโรคมะเร็งว่า ไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกอย่างที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง แต่เป็นเนื้อแดง คือเนื้อสัตว์ใหญ่และเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการ เช่น การทำเป็นไส้กรอก การหมัก การดองที่มีการเติมเกลือหรือสารกันบูดประเภทไนเตรท ไนไตรท์ลงไป
โดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน มักจะมี “ดินประสิว” ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า “โปตัสเซียมไนเตรต” เป็นส่วนประกอบในอาหาร ซึ่งสารดังกล่าวนี้จะช่วยคงสภาพให้เนื้อสัตว์มีสีแดงดูน่ารับประทานได้นานกว่าปกติ และมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดเช่นเดียวกับสารกันบูด
ดังนั้น หากร่างกายได้รับอาหารที่มีสารกันบูดเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร, หลอดอาหาร หรือลำไส้ใหญ่มากขึ้นด้วย

การนำเนื้อสัตว์ไปปิ้งหรือย่างก่อนรับประทาน อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้

เพราะในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง และรมควันนั้น มีชื่อว่าสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon – PAH) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟ จนทำให้เกิดเป็นควันที่มีพิษเป็นสารก่อมะเร็งและลอยกลับขึ้นมาจับที่เนื้อสัตว์บนเตา หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย จนเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้

การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์อย่างไร ให้ห่างไกลจากมะเร็ง

  • ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ และเนื้อปลา ที่เป็นสีอ่อนมากกว่าสีแดง และในกรณีมีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล หรือรับประทานให้น้อยลง
  • เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อสัตว์ใหญ่อื่นๆ ยังสามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 500 กรัม หรือวันละ 5-6 ช้อนโต๊ะ และอย่าลืมปรุงให้สุกก่อนรับประทานเสมอ
  • การปรุงเนื้อสัตว์ ควรรับประทานด้วยการปรุงแบบต้ม หรือนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงการปิ้ง หรือ ย่าง เพราะรอยไหม้จากการปิ้งย่าง สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้
  • ควรลดการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน โบโลนา แฮม ลูกชิ้น เป็นต้น เพราะอาจมีสารก่อมะเร็งผสมอยู่
  • หากมีอายุมากขึ้น สามารถลดการรับประทานเนื้อสัตว์ลงไปได้ โดยเน้นผักและผลไม้ให้มากขึ้น และอาจเพิ่มสารอาหารด้วยการรับประทานโปรตีนจากไข่ (ไข่ขาว และไข่แดง วันละ 1-2 ฟอง) หรือจากนม หรือถั่วต่างๆ เป็นต้น
สุดท้ายอยากฝากไว้ว่า.. หากฟังคนข้างบ้าน ก็อยากให้ฟังอย่างละเอียด และถามให้เข้าใจ เพราะฟังแค่บางประโยคอาจได้ใจความสำคัญมาไม่ครบทั้งหมด และตีความผิดได้ค่ะ ที่สำคัญกว่านั้น ก่อนตัดสินใจเชื่อ ไม่ว่าจะคนข้างบ้าน หลังบ้าน หน้าบ้าน หรือในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ถ้าไม่มั่นใจให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรก่อนจะดีกว่านะคะ 
เพราะถ้าคนไข้กังวลมากเกินไป ไม่กล้ารับประทานอะไรเลย โดยเฉพาะโปรตีน ยิ่งจะทำให้น้ำหนักลด และเป็นสาเหตุทำให้คนไข้เสียชีวิตได้จ้า…
เรียบเรียงโดย อยู่กับยา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mgronline, bumrungrad, hfocus
Facebook Comments

You may also like