เก็บยาน้ำเด็กอย่างไร ให้ถูกวิธี

โดย Boontharika Boonchaisaen
Expiration Features

ยาน้ำเด็กที่เห็นในโรงพยาบาลหรือขายกันตามร้านยานั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน หรือยาฆ่าเชื้อชนิดผงแห้งเวลาจะนำมาใช้ต้องผสมน้ำ เป็นต้น และทราบหรือไม่ว่า ยาน้ำแต่ละรูปแบบก็มีวิธีการเก็บรักษาที่ต่างกัน…

วันหมดอายุ(expiration date) คืออะไร?

Expirationวันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา(expiry date หรือ expiration date) อาจใช้ตัวย่อว่า EXP, Exp. date คือวันที่กำหนดอายุการใช้ยา สำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา ซึ่งการกำหนดวันหมดอายุและสภาวะการจัดเก็บยา เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาความคงตัวของตัวยานั่นเอง

เก็บยาน้ำเด็กอย่างไรให้ถูกวิธี

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเภสัชกรถึงแนะนำการเก็บยาน้ำเด็กแต่ละตัวไม่เหมือนกันเลย ยาน้ำบางตัวเช่น ยาน้ำลดไข้พาราเซตามอล แนะนำว่าเปิดแล้วไม่จำเป็นต้องแช่เย็น แล้วทำไมยาฆ่าเชื้อที่เป็นผงแห้งละลายน้ำ ต้องเก็บใส่ตู้เย็น วันนี้ทีมงานอยู่กับยาจะมาไขข้อสงสัยให้ทราบกันค่ะ

  • ในกรณีของยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำ เมื่อผสมผงยากับน้ำไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น*จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 14 วัน หากเก็บนานกว่านี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงจนรักษาไม่ได้ผล

ยาน้ำ_1*หมายเหตุ กรณียาที่ระบุว่าให้ เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะมีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งและเกิดการตกตะกอนได้ นอกจากนี้ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด – ปิด ประตูตู้เย็นบ่อยๆ

  • ในกรณีของยาน้ำโดยทั่วไป ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือ ไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ (อันใดอันหนึ่งโดยเลือกวันที่มาถึงก่อน) เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ฉลากบ่งบอกว่ายาหมดอายุ 30 มิถุนายน 2561 (เหลือเวลาประมาณ 8 เดือน) ซึ่งไม่เกิน 25% ของ 8 เดือนเท่ากับ 2 เดือน ดังนั้น เมื่อเปิดใช้ยาไปแล้ว 2 เดือน ควรทิ้งยานั้นไปเลย

ยาน้ำ_2

วิธีสังเกตการเสื่อมสภาพและไม่คงตัวของยาน้ำแต่ละรูปแบบ

  1. ยาผงแห้ง ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติ ไม่สามารถละลายได้และถ้าผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำแสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้
  2. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคาลาไมน์ทาแก้คัน หากเสื่อมสภาพ ตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
  3. ยาน้ำเชื่อม หากหมดอายุ ยาจะมีลักษณะขุ่นมีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มีกลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว
  4. ยาน้ำใส หากสี กลิ่นเปลี่ยนไป หรือมีตะกอน ลักษณะยาน้ำนั้นขุ่น ไม่ใส เหมือนตอนเริ่มผลิต ควรทิ้งยาน้ำนั้น

มีผู้ปกครองของคนไข้เด็กบางราย กลับมาที่รพ.แล้วบอกว่า ทำไมลูกกินยาแล้วไม่หายซักที แนะนำว่าให้ลองกลับไปสังเกตที่ผลิตภัณฑ์ยาน้ำนั้นดูค่ะว่า ยาน้ำที่เก็บในตู้ยาหรือตู้เย็นของคุณหมดอายุหรือยัง? และเก็บรักษาถูกวิธีหรือไม่?

เพราะการสำรวจวันหมดอายุของยาในตู้ยาและตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาเสื่อมสภาพได้นะคะ

เรียบเรียงโดย อยู่กับยา

แหล่งที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Facebook Comments

You may also like