จะเกิดอะไรขึ้นกับสมอง?ถ้าคุณนอนหลับไม่เพียงพอ

โดย Boontharika Boonchaisaen
Sleepandbrain

เคยสงสัยไหมว่า ทำไม? บางวันตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าเหนื่อยจัง หรือจำอะไรไม่ค่อยแม่นยำ หลงๆลืมๆ เหตุการณ์เหล่านี้ อาจเกิดจากที่คุณพักผ่อนไม่เพียงพอก็ได้…

สำนักข่าว BBC News ได้นำเสนอข่าวของงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่ศึกษาเกี่ยวกับ “ผลของสมองที่เกิดขึ้นในสภาวะร่างกายเหนื่อยล้าหรือนอนหลับไม่เพียงพอ” 

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา ซึ่งตั้งใจให้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีกลุ่มตัวอย่างที่เยอะที่สุดในโลก ซึ่งกำลังจะถูกเผยแพร่ในเร็วๆนี้

วิธีการศึกษา

Sleep01

คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คนจากอาสาสมัครทั้งสิ้น 1000 คน โดยจะให้ทำแบบทดสอบออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องการใช้เหตุผล การใช้ภาษา การตีความ และความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งแต่ละคนจะต้องทำแบบทดสอบหลายครั้ง จนกระทั่งเวลา 4.00 น. ทางผู้วิจัยถึงจะอนุญาตให้เข้านอนและพักผ่อนได้ โดยให้เวลาในการนอนหลับของแต่ละคนเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นจะถูกปลุกให้ตื่นทันที และหลังจากนั้นกลุ่มตัวอย่างทุกคนจะต้องไปเข้าเครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าการทำ “MRI, Magnetic Resonance Imaging” เพื่อตรวจดูการทำงานของสมองค่ะ

ผลการศึกษา

Sleep02

พบว่า คะแนนการทำแบบทดสอบในช่วงท้ายหรือในสภาวะร่างกายอ่อนล้า มีคะแนนที่แย่กว่าในช่วงแรกขณะที่ร่างกายสดชื่นและตื่นตัว Screen Shot 2560 06 28 At 23.26.21รวมถึงผลจากการตรวจสมองนั้นแสดงถึงความแตกต่างระหว่างภาพสมองในขณะที่นอนหลับพักผ่อนเต็มที่และสมองที่ได้นอนหลับแค่ 4 ชั่วโมง พบว่า สมองที่ได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่นั้นมีการทำงานของสมองที่ดีกว่าค่ะ

ซึ่งการศึกษาดังกล่าวก็สอดคล้องกับทฤษฎีของการนอนหลับที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง เรื่องของ “คลื่นสมองกับการนอนหลับ”

คลื่นสมองกับการนอนหลับ

17 09 15 11 04 12 S

ขอบคุณภาพจาก http://www.world-of-lucid-dreaming.com

กลไกการนอนหลับ จะแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ คือช่วง REM (Rapid Eye Movement) และช่วง NON REM (Non Rapid Eye Movement) ซึ่งจะสัมพันธ์กับการทำงานของคลื่นสมอง ดังนี้

  • NON REM (Non Rapid Eyes Movement) เป็นช่วงของการนอนตั้งแต่เริ่มหลับ มีความฝันเกิดขึ้นน้อยมาก และหากฝัน ความฝันที่เกิดขึ้นจะเป็นฝันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่าฝันในช่วง REM และการนอนในช่วงนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีส่วนสำคัญในการทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาการ และมีการหลั่งของฮอร์โมนที่เร่งการเติบโต growth hormone ซึ่งช่วงการหลับแบบ NON REM แบ่งออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้
  1. Stage 1 เป็นช่วงที่เราเพิ่งจะเริ่มหลับ โดยทั่วไปจะเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที หลังจากหลับตาลง ใน Stage นี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ถ้าเราถูกปลุกให้ตื่นตอนนี้ เราจะไม่ค่อยงัวเงียหรือบางทีก็จะรู้สึกว่าเรายังไม่ได้นอน คลื่นสมองจะเป็นคลื่น Alpha และ Theta บางทีตาอาจจะกลอกไปมาช้าๆได้ บางคนอาจจะเคยเจอปรากฏการณ์ ตกใจตื่น (Hypnic Jerk) หรือการรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง แล้วก็สะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา แต่ไม่ค่อยมีผลกับร่างกายมากนัก
  2. Stage 2 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเริ่มหลับไปยังหลับลึก คลื่นสมองจะทำงานเร็วขึ้นมาก โดยจะอยู่ในรูปของคลื่น Beta ในระยะนี้หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง อุณหภูมิในร่างกายจะเริ่มลดลงเล็กน้อย โดยจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในช่วงนี้สมองส่วนของ Cerebral Cortex และ Thalamus ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ, ความสนใจ, การรับรู้ต่างๆ, ความคิด, ภาษา, และสติ จะทำงาน ดังนั้นการนอนสั้นๆเพียง 30-40 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้เรากระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนของการเก็บข้อมูลเข้าความทรงจำระยะสั้น เพิ่มสมาธิ และยังทำให้ตื่นมาไม่งัวเงียมากนัก และเราจะไม่ฝันอีกด้วย
  3. Stage 3 การหลับลึก ในช่วงนี้เองที่ร่างกายจะตอบสนองกับสิ่งรบกวนภายนอกน้อยลงมาก ถ้าเราถูกปลุกช่วงนี้เราจะรู้สึกงัวเงียมากที่สุด โดยปกติการหลับใน Stage นี้คลื่นสมองจะเป็นรูปแบบ Delta เป็นส่วนใหญ่ ร่างกายจะอยู่ในสภาวะพักผ่อนมากที่สุด ในช่วงนี้เองการหลั่ง Growth Hormone เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ ในการหลับแบบ Non REM สามารถเกิดการฝันได้ โดยการฝันส่วนใหญ่ของ Non REM จะเกิดขึ้นช่วงกลางของการหลับลึก ความฝันในช่วงนี้จะเป็นฝันที่ค่อนข้างสมจริง ดังนั้น การละเมอ หรือการฉี่รดที่นอนก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้
  • REM (Rapid Eyes Movement) คือ คลื่นสมองช่วงนี้จะทำงานคล้ายคลึงกับเวลาที่เราตื่นอยู่ มากกว่าจะเป็นการนอนหลับที่สงบ กระแสเลือดในสมองจะไหลเร็วขึ้น การหลับในช่วง REM นี้จะเป็นช่วงที่เกิดการฝันได้ชัดเจน เมื่อตื่นขึ้นมาคุณจะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของความฝันได้ การนอนหลับช่วง REM มีประโยชน์อยู่สองอย่าง คือ ช่วยเรื่องการเรียนรู้ถาวร และการสร้างจินตนาการ

ระยะเวลาจากการหลับช่วง REM ไปถึงช่วง NON REM นั้นจะใช้เวลาประมาณ 90 นาที ดังนั้นตลอดคืนจนถึงช่วงเช้า เราจะสะสมรอบของการนอนวนเวียนอยู่ตามลำดับขั้นสี่ถึงห้าครั้ง

ดังนั้น ถ้าอยากให้ร่างกายพักผ่อนเพียงและไม่สูญเสียประสิทธิภาพของการทำงานของสมอง ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ต่างๆ, ความคิด, ภาษา, และการตัดสิน ควรนอนพักผ่อนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงนะคะ…

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : BBC News, Bangkokhealth.com

Facebook Comments

You may also like